Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาระดับการปนเปื้อนสารหนูทั้งหมดและสารหนูอนินทรีย์ในอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลชนิดต่างๆ ร่วมกับการประเมินปริมาณการได้รับสัมผัส และความเสี่ยงของสารหนูอนินทรีย์ต่อสุขภาพคนไทย ตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลสด 12 ชนิด และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล 7 ชนิด (n=10 ในแต่ละชนิดอาหาร) การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารหนูทั้งหมดและสารหนูอนินทรีย์ใช้วิธี Hybrid Generation–Atomic Absorption Spectrophotometer (HG-AAS) ความเข้มข้นของสารหนูทั้งหมดและสารหนูอนินทรีย์ (mean ± SD) ในอาหารทะเลสดและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีค่าตั้งแต่ 0.011 ถึง 9.951 µg/g และ 0.001 ถึง 0.554 µg/g (น้ำหนักเปียก) ตามลำดับ ในการศึกษานี้พบว่าหอยได้แก่หอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยลายมีระดับการปนเปื้อนของสารหนูทั้งหมดและสารหนูอนินทรีย์สูงกว่าอาหารชนิดอื่นๆ เปอร์เซ็นต์ของสารหนูอนินทรีย์ต่อสารหนูทั้งหมดในอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีค่าตั้งแต่ 0.4 ถึง 11.02% การประเมินความเสี่ยงของสารหนูอนินทรีย์จากการบริโภคอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลใช้การประเมินความเสี่ยงทั้งเชิงกำหนดและเชิงความน่าจะเป็น จากการประเมินความเสี่ยงเชิงกำหนดพบว่าปริมาณการได้รับสารหนูอนินทรีย์จากการบริโภคอาหารทะเลสดและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีค่าระหว่าง 0.017 - 0.236 µg/kg bw/day เมื่อนำค่านี้มาเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยของสารหนูอนินทรีย์ในคนที่ระดับ 0.3 µg/kg bw/day พบว่าคนไทยในทุกช่วงอายุมีความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทะเลสดและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ส่วนการประเมินความเสี่ยงเชิงความน่าจะเป็นพบว่าปริมาณการได้รับสารหน อนินทรีย์จากการบริโภคอาหารทะเลสดและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีค่าระหว่าง 0.049 ถึง 2.290 µg/kg bw/day เมื่อนำค่านี้มาเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยพบว่าคนไทยในช่วงอายุมากกว่า3 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารหนูอนินทรีย์จากการบริโภคอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยหอยแครงและหอยลายเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงของการปนเปื้อนสารหนูอนินทรีย์ในคนไทย