Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาอิทธิพลของการเห็นคุณค่าในตนเองที่รับรู้ และการเห็นคุณค่าในตนเองโดยนัย ในการทำนายการถูกกีดกันทางสังคมและการรับรู้การถูกกีดกันทางสังคม และ 2) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลเชิงสาเหตุของการรับรู้การถูกกีดกันทางสังคมและการถูกกีดกันทางสังคมระหว่างกลุ่มที่มีระดับบุคลิกภาพแบบหลงตนเองแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นิสิตปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ลงทะเบียนเรียนในวิชา 3800101 จิตวิทยาทั่วไป ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2553 จำนวน 412 คน เพศชายจำนวน 132 คน และเพศหญิงจำนวน 280 คน กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มเข้ากลุ่มเพศเดียวกันกลุ่มละ 4 คน เพื่อร่วมกันทำงานในการเหนี่ยวนำความใกล้ชิดทางสัมพันธภาพแล้วตอบมาตรวัดการเห็นคุณค่าในตนเองที่รับรู้ การทดสอบการเชื่อมโยงโดยนัย มาตรวัดการรับรู้การถูกกีดกันทางสังคม และมาตรวัดการถูกกีดกันทางสังคม ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) พบว่า 1) โมเดลเชิงสาเหตุของการรับรู้การถูกกีดกันทางสังคมและการถูกกีดกันทางสังคมมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 13.32; df = 8; p = .101; RMSEA = .08) โดยการเห็นคุณค่าในตนเองที่รับรู้มีอิทธิพลทางลบต่อการรับรู้การถูกกีดกันทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2) บุคลิกภาพแบบหลงตนเองเป็นตัวแปรกำกับอิทธิพลเชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรการเห็นคุณค่าในตนเองโดยนัยต่อการถูกกีดกันทางสังคม