Abstract:
ทุนนิยมไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริวารของทุนนิยมตะวันตกแม้ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมก็ตาม หลังเปิดเสรีการค้า สังคมไทยถูกครอบงำจากทุนนิยมการค้า โดยเริ่มจากการเป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบและตลาดรับซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากตะวันตก ต่อมาจึงพัฒนาเป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า กระบวนการพัฒนาดังกล่าวอย่างน้อยก็ในระยะแรก ได้ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องมีผู้รู้ทั้งภาษาต่างประเทศและการดำเนินกิจกรรมการค้า เริ่มที่รัชกาลที่ 4 เห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศ จึงเริ่มจ้างครูฝรั่งเข้ามาสอนให้ลูกหลานชนชั้นสูงในสังคมไทย ในขณะที่กลุ่มมิชชันนารีได้ทำการสอนให้แก่เด็กกำพร้าและยากจน ตลอดจนลูกพ่อค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ต่อมารัฐได้พัฒนาระบบการศึกษาและเปิดหลักสูตรอาชีวศึกษาให้แก่สามัญชน โดยเริ่มจากสาขาพาณิชยการ และเพิ่มสาขาอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคจนถึงการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ศึกษาพัฒนาการของกระบวนการจัดการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างบุคลากรไว้รองรับการเติบโตของรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือการสะสมทุนว่ามีความสอดคล้องหรือไม่เพียงใด เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงของทุนนิยมการค้าจนถึงประมาณทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 อันเป็นช่วงทุนนิยมในรูปแบบดังกล่าว ถูกทดแทนด้วยทุนนิยมอุตสาหกรรม
ผลการศึกษาพบว่าหลังเปิดเสรีการค้า ช่วง พ.ศ. 2398 นั้นไม่พบหลักสูตรอาชีวศึกษา เหตุเพราะทุนอาจต้องการเพียงแรงงานที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อค้าขาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐได้ก่อตั้งระบบการศึกษาในโรงเรียนขึ้นเพื่อสร้างแรงงานไว้รองรับระบบรัฐ โดยผลักภาระแก่ทุนนิยมการค้าให้เป็นผู้ฝึกฝนแรงงานตามความต้องการของทุนเอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐประกาศใช้แผนการศึกษาของชาติ โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความสามารถ สติปัญญาและทุนทรัพย์ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การศึกษาถูกทำให้รองรับทุนนิยมของรัฐด้วยนโยบายชาตินิยม และลดบทบาทของทุนนิยมตะวันตกลง พ.ศ. 2503 ทุนนิยมตะวันตกเริ่มกลับเข้ามาภายหลังการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลก หลักสูตรอาชีวศึกษาสาขาพาณิชยกรรม สามารถรองรับการเติบโตของทุนได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งทุนเปลี่ยนเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมในที่สุด