Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของกรดซินนามิก (CIN) และอนุพันธ์ 6 ชนิด ได้แก่ กรดออร์โท-, เมทา-, พารา-ไฮดรอกซีซินนามิก และกรดออร์โท-, เมทา-, พารา- เมททอกซีซินนามิก ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด การกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในภาวะปกติและภาวะน้ำตาลสูง และการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่า-กลูโคซิเดสจากลำไส้หนูขาว การทดลองนี้ใช้หนูขาวสายพันธุ์ Sprague-Dawley น้ำหนัก 300-350 กรัม แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ กลุ่มที่ 2-8 ได้รับกรดซินนามิกและอนุพันธ์ (5 ก./กก.) ตามลำดับ หลังจากให้สารทดสอบ 30 นาที จึงฉีดสารละลายกลูโคสขนาด 0.25 ก./กก. เข้าทางหลอดเลือดดำ และเก็บตัวอย่างพลาสม่าจากหลอดเลือดดำฟีเมอรอล ณ นาทีที่ 0, 5, 10, 30, 60, 90 และ 120 เพื่อนำมาตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสด้วยวิธี glucose oxidase test จากนั้นนำสารที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดมาศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในภาวะน้ำตาลปกติ (5.5 mM) และภาวะน้ำตาลสูง (10 mM) ด้วยเทคนิค In situ pancreatic perfusion และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่า-กลูโคซิเดส จากผลการทดลองพบว่า CIN, กรดออร์โท-ไฮดรอกซีซินนามิก (o-HCA) และกรดพารา-เมททอกซีซินนามิก (p-MCA) สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดย CIN และ o-HCA ลดระดับน้ำตาลได้ ณ นาทีที่ 10 ส่วน p-MCA ได้ในนาทีที่ 5, 10 และ 90 หลังจากฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าหลอดเลือดดำ นอกจากนี้ CIN และ p-MCA สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้สูงสุดในภาวะน้ำตาลปกติและภาวะน้ำตาลสูงเป็น 1.98, 3.41 เท่า และ 1.6, 2.41 เท่า ตามลำดับเมื่อเทียบกับ 0.2%DMSO อย่างไรก็ตาม o-HCA ไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน แต่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซูเครส และมอลเตสได้ โดยมีค่า IC[subscript 50]ต่ำกว่าอะคาร์โบส 20.06 และ 775 เท่า ตามลำดับ สรุปได้ว่า CINและอนุพันธ์สองชนิด คือ p-MCA และ o-HCA สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยผ่านทางกลไกที่แตกต่างกัน คือ CIN และ p-MCA กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ในขณะที่ o-HCA ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่า-กลูโคซิเดส