Abstract:
ศึกษาการนำมาตรการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาทุจริตในการเลือกตั้ง ดังที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และศึกษาผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาพรรคการเมืองไทย ภายหลังการมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า มาตรการลงโทษพรรคการเมืองที่กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งด้วยการยุบพรรคการเมือง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ยังคงมีการกระทำความผิดปรากฎในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพื้นที่ โดยมีวิธีการกระทำความผิดที่ไม่สลับซับซ้อนและไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่ทั้งนี้การยุบพรรคการเมืองก็ได้สร้างความระมัดระวังในการกำหนดกลยุทธ์ หรือวิธีการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เคยสังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จากการที่มาตรการดังกล่าวถูกมองว่า เป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
การยุบพรรคการเมืองยังส่งผลให้พรรคการเมืองไม่เกิดการพัฒนาและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองที่มีการย้ายเข้ามาของสมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ตามกรอบความคิดและอิทธิพลของชนชั้นนำภายในพรรคการเมือง ที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการได้ จากบทลงโทษที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี ทำให้พรรคการเมืองในปัจจุบันกลายเป็นพรรคการเมืองในรูปแบบของตัวแทน และยังส่งผลให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ลดลง