Abstract:
ความสำคัญของท้องทะเลในฐานะเป็นแหล่งสะสมทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งประเภทอาหารและแร่ธาตุนานาชนิด เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ เกิดความสนใจในการกำหนดเขตแดนทางทะเลให้มีความชัดเจนและแน่นอนมากขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เห็นได้จากวิวัฒนาการทางด้านกฎหมายทะเลที่มุ่งหวังจะให้เป็นแนวทางในการจัดระเบียบของการใช้ทะเลของโลก แต่เมื่อทุกประเทศต่างยอมรับถึงการมีผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลด้วยความปรารถนาที่จะครอบครองทะเลไว้ให้มากที่สุด จึงมัก่อให้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งเขตแดนทางทะเลที่ทำให้กฎหมายทะเลไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างครบถ้วนแท้จริง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซียในเชิงการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมสำคัญและเข้ามามีผลกระทบต่อการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ตามข้อมูลที่รวบรวมจากเอกสาร หนังสือ ตลอดจนสนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีปัจจัยสภาพแวดล้อมประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุเบื้องต้นของความขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซีย คือ สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศทั้งสองในลักษณะที่มีชายฝั่งทะเลประชัดติดกันในน่านน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นอาณาบริเวณของแหล่งสะสมทรัพยากรทางทะเลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้ไทยกับมาเลเซียมีผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจากสิ่งที่อยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันการมีความสัมพันธ์อันดีในระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงการเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และสถานการณ์ทางการเมืองของภูมิภาคในส่วนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในอินโดจีน (ค.ศ. 1970-1979) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามร่วมกันของไทยกับมาเลเซีย ก็เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เข้ามาควบคุมความขัดแย้งนั้น และทำให้ปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซียปรากฏออกมาในลักษณะของการแปรเปลี่ยนสิ่งที่เป็นความขัดแย้งให้กลับกลายเป็นความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ด้วยการเจรจาทำความตกลงกันโดยสนติเสมอมา จนกระทั่งการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้นลงไปด้วยการรอมชอมผ่อนปรนกันได้ในที่สุด