Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการทำความเข้าใจความหมายของ “การเมือง” และความสัมพันธ์ระหว่าง “การเมือง” กับ “พระเจ้า” ตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุ โดยใช้กรอบการศึกษาที่สร้างจากแนวคิดเรื่องภาษาคน-ภาษาธรรมของท่านอธิบายแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมที่พุทธทาสภิกขุเสนอไว้ ผลการศึกษาพบว่า ตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีกิริยาทางการเมือง อันเป็นการกระทำและแสดงออกในลักษณะการต่อสู้ ดิ้นรน ปรับปรุงตัว ไปตามอำนาจของสัญชาตญาณแห่งความมีตัวตน ดังนั้น ความหมายของ “การเมือง” ก็คือการจัดให้สิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยกิริยาทางการเมืองเหล่านั้นสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ในกรณีของมนุษย์ พุทธทาสภิกขุเห็นว่าโดยทั่วไปมนุษย์ใช้ความจริงแบบที่ท่านเรียกว่า “สัจจาภินิเวส” ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกัน “สัจจาภินิเวส” เป็นความจริงที่เป็นไปตามเหตุผลและผลประโยชน์ของผู้ชนะในแต่ละช่วงเวลา แต่ท่านเสนอว่ามนุษย์ควรจะใช้ความจริงตามธรรมชาติที่ “พระเจ้า” ใช้จัดสรรพสิ่งทั้งหลายมาจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมการเมือง ซึ่งพุทธทาสภิกขุเรียกว่า “ธรรมสัจจะ” อันได้แก่ ธรรมสัจจะเรื่องสังคมนิยม การทำหน้าที่ และการไม่กอบโกยส่วนเกิน ระบบความสัมพันธ์ใดก็ตามที่นำเอาความจริงตามธรรมชาติ (ธรรมสัจจะ) มาใช้ในการจัดระเบียบตัวตนและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมได้ ระบบความสัมพันธ์นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นระบบการเมืองแบบธัมมิกสังคมนิยม ดังนั้น ธัมมิกสังคมนิยมจึงสามารถปรากฏอยู่ในการปกครองรูปแบบใดก็ได้ และสามารถจะนำไปปฎิบัติได้ในทุกระดับความสัมพันธ์ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นระบบความสัมพันธ์ที่จัดโดยอาศัยกลไกอำนาจของรัฐเท่านั้น