Abstract:
การศึกษาปัญหาสังคมและสาธารณสุขของคนงานก่อสร้างในเขตเทศบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 2 ประการ คือ 1) เพื่อใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บข้อมูล อธิบายและให้ความหมายแก่ข้อมูลเกี่ยวกับคนงานก่อสร้างและ 2) เพื่อบรรยายและวิเคราะห์บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของวิถีชีวิต สภาพการทำงานและปัญหาสาธารณสุขของคนงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง วิธีวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม ส่วนสถานที่ก่อสร้างที่ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลมีทั้งหมด 6 แห่ง สามารถสัมภาษณ์คนงานก่อสร้างได้ 21 ราย และจัดการสนทนากลุ่ม 4 กลุ่ม ผลการศึกษาสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ผลักดันให้ชาวชนบทโดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างหันเหชีวิตเข้าสู่อุตสาหกรรมก่อสร้าง คนงานยอมรับว่างานก่อสร้างเป็นงานหนักและไม่มีอิสระ แต่สามารถให้รายได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัวและชำระหนี้สิน รวมทั้งเก็บออมได้บ้าง คนงานก่อสร้างส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนก่อสร้างเป็นครอบครัว หากมีบุตรที่ยังเล็กบุตรจะอาศัยอยู่ด้วย ส่วนบุตรวัยเรียนจะอาศัยอยู่ที่บ้านเดิมกับญาติพี่น้อง คนงานก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานก่อสร้างจึงมักเริ่มต้นจากงานกรรมการและเรียนรู่งานจากการสังเกต รวมทั้งการสอนงานของเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน การขาดความรู้และทักษะนี้นำไปสู่การขาดอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้าง การขาดโอกาสหรือมีโอกาสจำกัดในการเลื่อนระดับการทำงาน นอกจากนี้คนงานยังไม่ได้รับความคุ้มครองในด้านสวัสดิภาพและขาดความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ ปัญหาสังคมที่คนงานก่อสร้างประสบได้แก่ ปัญหาความยกจนเรื้อรัง การขาดภาวะสมดุลในครอบครัว ปัญหาการเลี้ยงดูบุตรในที่ทำงานและที่พัก ปัญหาการปรับตัวทางสังคมและปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน ในส่วนของปัญหาสาธารณสุขนั้น พบว่ามีความสัมพันธ์ปับปัญหาสังคม เนื่องมาจากคนงานมีการศึกษาน้อยอีกทั้งมีอำนาจในการต่อรองน้อย ความสามารถในการดูแลตนเอง และความรู้ด้านสุขภาพมีจำกัด ปัญหาสุขภาพของคนงานก่อสร้างส่วนหนึ่งยังมีสาเหตุมาจากการอยู่อาศัยในที่พักซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ และการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง คนงานโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับเครื่องมือป้องกันภัยอย่างเพียงพอจากนายจ้างและยังขาดความรู้อย่างมากในในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน และเจ้าของกิจการหรือผู้รับเหมาก็ขาดการเอาใจใส่หรือสนใจในสวัสดิภาพของคนงาน สำหรับประเด็นของการเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยเนื่องมาจากการทำงานส่วนใหญ่เจ้าของกิจการเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาล หากการเจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน คนงานก่อสร้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อย่างไรก็ตาม คนงานก่อสร้างบางคนก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมแต่สิทธิประโยชน์ไม่ได้ครอบคลุมถึงสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว คนงานชายเป็นจำนวนมากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การนิยมดื่มสุราเป็นประจำ ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ยังพบว่าคนงานก่อสร้างชายโสดและคนงานก่อสร้างที่สมรสแล้วแต่ภรรยาไม่ได้อยู่ด้วยนิยมไปเที่ยวหญิงบริการซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสของการเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ผลการวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานก่อสร้างดังนี้ 1. ควรมีการพัฒนาคนงานให้มีทักษะและฝีมือในการทำงานก่อสร้างให้มากยิ่งขึ้น โดยการจัดฝึกอบรมให้กับแรงงานใหม่สักระยะหนึ่งก่อนเริ่มทำงาน หรือการจัดฝึกอบรมในท้องถิ่นให้กับชาวชนบทระหว่างว่างจากงานเกษตร ซึ่งอาจดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมแรงงาน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการออกประกาศนียบัตรรับรองหรือส่งเสริมให้บริษัทก่อสร้างจัดการฝึกอบรมให้กับคนงานก่อสร้างในสังกัด 2. เจ้าของกิจการก่อสร้างและหน่วยงานของรัฐควรจะได้มีการจัดสวัสดิการด้านดูและเด็กให้กับคนงาน และควรขยายการศึกษานอกระบบโรงเรียนให้เหมาะสมกับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นบุตรคนงานก่อสร้าง 3.ควรมีการปรับปรุงสวัสดิการเกี่ยวกับที่พักคนงานในด้านต่าง ๆโดยการสร้างจิตสำนึกให้คนงานก่อสร้างรักษาความสะอาดบริเวณที่พักและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้เจ้าของกิจการให้มีจิตสำนึกในการคำนึงถึงภาพความเป็นอยู่ของคนงานด้วย นอกจากนี้ทางรัฐอาจจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานของที่พักอาศัยแบะตรวจสอบว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่อย่างจริงจัง 4. ควรมีการให้มีความรู้กับคนงานในเรื่องของความปลดภัยในการทำงาน รวมทั้งส่งเสริมให้เจ้าของกิจการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยมีหน่วยงานของรัฐดูแลตรวจตราอย่างเข้มงวด 5. จัดให้มีการให้ความรู้ทางสาธารณสุขกับคนงาน รวมทั้งจัดรูปแบบการให้บริการสาธารณสุขสำหรับประชากรกลุ่มนี้เป็นพิเศษ 6.รัฐควรมีส่วนในการช่วยเหลือดูและคนงานให้มากยิ่งขึ้นในเรื่องต่าง ๆ เช่น การว่าจ้างงาน การใช้แรงงานหญิง และสวัสดิการต่าง ๆ