Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสื่อมวลชนประต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ กับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ และศึกษาถึงความพึงพอใจ ความเชื่อถือที่ได้รับจากการเปิดรับสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ของวัยรุ่นในเขต กรุงเทพมหานคร โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 405 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ค่า T-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. การเปิดรับสื่อวิทยุ นิตยสารภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ของวัยรุ่น แต่การเปิดรับสื่อนิตยสารทั่วไป การโฆษณาในนิตยสารภาพยนตร์ และการโฆษณาทางโทรทัศน์ ไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร 2. การเปิดรับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสารภาพยนตร์ และนิตยสารทั่วไป มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจต่อข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับในทุกๆ ด้าน (ด้านเนื้อหาสาระ ความใหม่ทันสมัยของข่าวสาร ความน่าเชื่อถือของข่าวสารและปริมาณข่าวสารที่ได้รับ) แต่การเปิดรับสื่อหนังสือพิมพ์มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจต่อข่าวสารในทุกๆ ด้าน ยกเว้นด้านเนื้อหาสาระ 3. ความพึงพอใจต่อข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับจากสื่อวิทยุ นิตยสารภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ของวัยรุ่น แต่ความพึงพอใจจากการเปิดรับสื่อนิตยสารทั่วไป และการโฆษณาในนิตยสารภาพยนตร์ไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ นอกจากนี้การตัดสินใจชมภาพยนตร์ยังมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจต่อการชมโฆษณาภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ในทุกๆ ด้านยกเว้นด้านเนื้อหาสาระ 4. การเปิดรับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และนิตยสารภาพยนตร์ ไม่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อถือต่อข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่การเปิดรับสื่อนิตยสารทั่วไปและสื่อหนังสือพิมพ์ มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับความเชื่อถือต่อข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ 5. ความเชื่อถือในสื่อมวลชนที่ให้ข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ทุกประเภท มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ 6. เพศ อายุ การศึกษา อาชีพและรายได้ มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจชมภาพยนตร์ของวัยรุ่น