Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเพื่อกำหนดตัวชี้วัดของการดำเนินการของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเป็นกระบวนการค้นหาข้อมูลนำเข้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในและต่างประเทศ ร่วมกับกระบวนการกลุ่มเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการอันไปสู่ข้อมูลที่สำคัญยิ่งสำหรับคณะวิจัย ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมดได้รับการนำมาประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อใช้ในการกำหนดนิยามของระบบสุขภาพ องค์ประกอบของระบบสุขภาพ วัตถุประสงค์ของการประเมินการดำเนินการระบบสุขภาพ กรอบการประเมิน หมวดของตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมิน และตัวชี้วัดที่เหมาะสมต่อการใช้ในการประเมิน นอกจากนั้นยังได้ให้คำแนะนำของแหล่งหรือวิธีการได้ค่าของตัวชี้วัด ความพร้อมในการดำเนินการเพื่อเก็บตัวชี้วัดแต่ละตัว และสิ่งที่ยังต้องการการพัฒนาหรือทำการศึกษาในกลุ่มตัวชี้วัดจำนวนหนึ่ง ผลการวิจัยได้สาระสำคัญ ดังนี้ ระบบสุขภาพ หมายถึง กิจกรรมทั้งหมดที่เป็นกระบวนการที่มีจุดประสงค์หลักในการสร้างเสริม ฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งสุขภาพของบุคคลและประชาชน องค์ประกอบของระบบสุขภาพซึ่งครอบคลุมเฉพาะกิจกรรมทั้งหมดที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสุขภาพ สามารถจำแนกออกได้เป็นสองส่วนสำคัญ คือ ระบบที่เป็นทางการ (Formal health system) และระบบที่ไม่เป็นทางการ ครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเพื่อสุขภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน กิจกรรมที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มีความเป็นแบบแผนเท่ากับระบบที่เป็นทางการ แต่ก็ยังคงลักษณะของแบบแผนและความเชื่อมโยงในระดับหนึ่ง ประการสำคัญสามารถเทียบเคียงระหว่างระบบที่เป็นทางการกับระบบที่ไม่เป็นทางการได้ ความสอดคล้องกันปรากฏทั้งในส่วนของการดูแลสุขภาพ และองค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่ การเงิน-ค่าใช้จ่าย ข้อมูลและการสื่อข่าวสาร การพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดประสบการณ์ การควบคุมกำกับนโยบายและวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต ตลอดจนการศึกษาวิจัยและการทดลองพื้นบ้านหรือการค้นพบต่าง ๆ วัตถุประสงค์ของการประเมินระบบสุขภาพของประเทศไทย คือ เพื่อทราบถึงสมรรถภาพของการดำเนินการของระบบสุขภาพ ซึ่งรวมถึง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความชอบธรรมเพื่อนำไปใช้ในการติดตามและพัฒนาระบบสุขภาพ ในการประเมินระบบสุขภาพควรครอบคลุมมิติด้าน "ผลลัพธ์ (Outcome)" "ประสิทธิภาพ (Efficiency)" และ "ความเป็นธรรม (Efficiency)" ทั้งนี้หมวดของการประเมินที่สมควรทำประกอบด้วย สถานะสุขภาพ (Health state) ผลลัพธ์ทางสุขภาพ (Health outcomes) การดูแลทางสุขภาพ (Health care/services) การคลังทางสุขภาพ (Health care finance) การนำในระดับพื้นที่ (Stewardship) การวิจัย (Research) การผลิตและพัฒนาบุคลากร (Human resources) ข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ (Health information) ตัวชี้วัดที่สมควรทำการประเมินได้ทำการจำแนกไว้ตามหมวดทั้ง 8 หมวดมีทั้งหมด 60 ตัวชี้วัด โดยที่ตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งสามารถดำเนินการเก็บได้โดยไม่ยากและสามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน แต่ตัวชี้วัดอีกจำนวนหนึ่งยังต้องการกการกำหนดเกณฑ์หรือนิยาม หรือทำการกำหนดกระบวนการทดสอบหรือเก็บข้อมูล นอกจากนั้นยังมีตัวชี้วัดอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมหรือการพัฒนาค่อนข้างมากก่อนที่จะนำมาใช้หรือเก็บได้จริง วิธีการให้ได้ข้อมูลหรือแหล่งที่มาของตัวชี้วัด ตลอดจนความพร้อมและความต้องการการพัฒนาตัวชี้วัดทั้ง 60 ตัว ได้รับการระบุไว้ในการศึกษานี้ ผลที่ได้จากการวิจัยนี้ คงไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทันที และยังคงต้องการการผ่านกระบวนการพิจารณาในวงกว้างจากแวดวงนักวิชาการแลผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารซึ่งอาจทำได้โดยการเผยแพร่และรับข้อคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุง อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้กรอบและแนวทางสำคัญซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาระบบการประเมินการดำเนินการของระบบสุขภาพของประเทศไทย