Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบการตอบสนองของเนื้อเยื่อในของสุนัขต่อการตัดเนื้อเยื่อในบางส่วนแล้วปิดทับด้วยพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ที่ปรับปรุงคุณภาพกับโปรรูทเอ็มทีเอ โดยทำการตัดเนื้อเยื่อในบางส่วนในฟันกรามน้อยของสุนัข 4 ตัว จำนวน 35 ซี่ และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม 1 ปิดด้วยโปรรูทเอ็มทีเอที่ผสมกับน้ำกลั่น (จำนวน 10 ซี่) กลุ่ม 2 ปิดด้วยพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ที่มีบิสมัตออกไซด์ ผสมกับแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้นร้อยละ 5 และเมททิลเซลลูโลสความเข้มข้นร้อยละ 1 (จำนวน 20 ซี่) รองพื้นด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ และบูรณะด้วยเรซิน คอมโพสิต โดยทั้งสองกลุ่มจะทดลองที่ 7 และ 70 วัน กลุ่ม 3 เป็นกลุ่มควบคุมบวก เนื้อเยื่อในที่ตัดถูกเปิดไว้เป็นเวลา 7 วัน (จำนวน 5 ซี่) ทำการถอนฟันภายใต้การดมยาสลบ แล้วนำฟันที่ได้ไปผ่านกระบวนการตรวจลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา เพื่อประเมินการอักเสบและการสร้างเนื้อเยื่อแข็งของเนื้อเยื่อใน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบครัสคัล-วอลลิส และไคสแควร์ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้านการตอบสนองต่อการอักเสบและการหายระหว่างโปรรูทเอ็มทีเอและพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ทั้งในระยะเวลา 7 วัน และ 70 วัน โดยกลุ่มทดลองทั้งสองไม่พบการอักเสบของเนื้อเยื่อใน นอกจากนี้พบว่ามีการสร้างเนื้อเยื่อแข็งที่ต่อเนื่อง ด้วยลักษณะรูปร่างและความหนาที่ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มทดลองทั้งสอง อย่างไรก็ตามพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองทั้งสองกับกลุ่มควบคุมบวก ซึ่งพบการอักเสบในระดับปานกลางถึงรุนแรง จากผลการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า พอร์ตแลนด์ซีเมนต์ของประเทศไทยที่มีบิสมัตออกไซด์ผสมกับแคลเซียมคลอไรด์และเมททิลเซลลูโลสเมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปิดทับเนื้อเยื่อในสามารถคงความมีชีวิตของเนื้อเยื่อในได้ โดยปราศจากการอักเสบ ส่งเสริมให้เกิดการหายและกระบวนการซ่อมแซม นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อแข็งที่มีลักษณะไม่แตกต่างจากโปรรูทเอ็มทีเอ