Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของเด็กที่มี/ไม่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อมี/ไม่มีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่าน และ 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลของการประสบภัยพิบัติสึนามิและปัจจัยปกป้องที่ส่งผ่านการฟื้นคืนได้ต่อพัฒนาการของเด็กที่มี/ไม่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิ โมเดลที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยตัวแปรแฝง 10 ตัว และตัวแปรสังเกตได้ 21 ตัว กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,162 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มที่เป็นผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จำนวน 603 คน และกลุ่มเปรียบเทียบซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ประสบภัยพิบัติสึนามิจำนวน 559 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแบบรายงานตนเอง ตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุโดยการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL 8.8 for students) งานวิจัยนี้มีโมเดลตามสมมติฐานจำนวน 5 โมเดล ได้แก่ 1) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่มีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่าน 2) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่มีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างปัจจัยปกป้องและพัฒนาการ 3) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่มีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่าน 4) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่มีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างปัจจัยปกป้องและพัฒนาการ และ 5) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพัฒนาการของเด็กที่ประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านการฟื้นคืนได้ต่อพัฒนาการโดยไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อพัฒนาการ ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดลทั้ง 5 โมเดล พบว่า โมเดลทั้งหมดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ เมื่อพิจารณาอิทธิพลของประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิและปัจจัยปกป้องที่ส่งผ่านการฟื้นคืนได้ต่อพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิและกลุ่มเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิในโมเดลสมมติฐานที่ 1-4 พบว่า ในเด็กกลุ่มที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ การประสบภัยพิบัติไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อพัฒนาการของเด็กและไม่มีอิทธิพลทางอ้อมผ่านตัวแปรการฟื้นคืนได้ไปยังพัฒนาการและพบว่า ในเด็กทั้งสองกลุ่มปัจจัยปกป้องมีอิทธิพลทางอ้อมต่อพัฒนาการของเด็กโดยมีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเมื่อพิจารณาอิทธิพลของประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิและปัจจัยปกป้องที่ส่งผ่านการฟื้นคืนได้ต่อพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่มีประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิในโมเดลสมมติฐานที่ 5 ซึ่งเป็นโมเดลที่ภัยพิบัติสึนามิไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อพัฒนาการพบว่า ภัยพิบัติสึนามิมีอิทธิพลทางอ้อมต่อพัฒนาการโดยมีการฟื้นคืนได้เป็นตัวแปรส่งผ่าน