Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การดำรงอยู่ชาวสวนยางพารารายย่อยภายใต้กลไกของระบบทุนนิยมที่แทรกซึมอยู่ในกระบวนการผลิตยางพารา และวิเคราะห์โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนยางพารา โดยใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์เป็นหลักในการวิเคราะห์ ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์และนำเสนอมาจากการศึกษากระบวนการผลิตยางพาราในหมู่บ้านห้วยพลูหนัง รวมทั้งสังเกตการณ์จากการสนทนาในวงสนทนาต่างๆของชาวบ้าน และใช้เอกสารที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาของงานประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆจากวิถีการผลิตยางพารา ศึกษาลงลึกไปในกระบวนการผลิต ซึ่งเน้นไปที่การศึกษาการดำรงอยู่ของชาวสวนยางพารารายย่อยซึ่งพบว่า ผู้ผลิตรายย่อยที่ทำงานเองและแรงงานรับจ้างในสวนยางพาราซึ่งเป็นผู้ผลิตที่แท้จึงถูกครอบงำโดยทุนในระดับเข้มข้นจนผู้ผลิตรายย่อยก็อยู่ในสถานะที่เป็นแรงงาน โดยที่ฝ่ายทุนเป็นผู้ได้เปรียบจากการที่ครอบครองปัจจัยการผลิตมากกว่าทำให้มีอำนาจบังคับควบคุม ให้ฝ่ายแรงงานต้องทำตามเพื่อกำไรของนายทุน และต้องหาทางออกจากความคับแค้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายทุนด้วยวิธีการต่อต้านเล็กๆน้อยๆหลายรูปแบบเพื่อตอบโต้ฝ่ายทุนที่ฉกฉวยผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังชี้ได้ว่ารัฐและกลุ่มอำนาจท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และแม้รัฐจะมีความเป็นอิสระในการออกนโยบานเพื่อเป้าหมายของรัฐเองก็จริง แต่ก็พบด้วยว่านโยบายของรัฐเหล่านั้นมักมีแนวโน้มที่จะช่วยให้นายทุนได้รับประโยชน์มากกว่ารายย่อยที่อยู่ในสถานะของผู้ใช้แรงงาน ความพยายามควบคุมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้ผลิตยางพาราราย่อยผ่านนโยบาย โครงการ กฎหมาย และวิธีการต่างๆ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน เป็นการซ้ำเติมความเป็นอยู่ของผู้ผลิตรายย่อยให้มีสถานะของการเป็นผู้ใช้แรงงานชัดมากขึ้น