Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแรงต้านการแตกและรูปแบบการแตกในแนวดิ่งของฟันที่ผ่านการรักษาคลองรากฟันและมีปริมาณเนื้อฟันเหลือโดยรอบแตกต่างกันหลังจากที่บูรณะด้วยเดือยคอมโพสิตเสริมเส้นใยควอทซ์โดยใช้เรซินซีเมนต์เป็นตัวยึดร่วมกับการสร้างแกนฟันด้วยเรซินคอมโพสิต รวมทั้งเปรียบเทียบชนิดของเรซินคอมโพสิตและเรซินซีเมนต์ที่ต่างชนิดกัน วิธีการโดยนำฟันกรามน้อยล่างซี่ที่สองจำนวน 70 ซี่ ตัดส่วนตัวฟันออกให้เหลือความยาวราก 15 มม. รักษารากฟันและอุดด้วยวิธีเเลเทอรอลคอนเดนเซชัน การศึกษานี้แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ตอน ตอนที่1 เปรียบเทียบปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ปริมาณเนื้อฟันพอดีกับเดือยสำเร็จรูปและมีปริมาณเนื้อฟันโดยรอบ 2 1.5 และ 1 มม.ตามลำดับ ทำการบูรณะด้วยเดือยคอมโพสิตเสริมเส้นใยควอทซ์ดีทีไลท์โพสต์ เบอร์ 1 ร่วมกับการใช้ซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีเรซินซีเมนต์ในการยึดและสร้างแกนฟันด้วยมัลติคอร์โฟลว์เรซินคอมโพสิต ตอนที่ 2 ศึกษาในฟันที่ปริมาณเนื้อฟันเหลือโดยรอบ 1 มม.เท่ากัน เปรียบเทียบระหว่างมัลติคอร์โฟลว์เรซินคอมโพสิตและเรซินคอมโพสิตที่ผลิตเพื่อการทดลอง ตอนที่ 3 เปรียบเทียบการไม่ใช้เรซินซีเมนต์ และใช้ซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีเรซินซีเมนต์และพานาเวียร์เอฟทูเรซินซีเมนต์ ในฟันที่ปริมาณเนื้อฟันเหลือโดยรอบ 1 มม.เท่ากันและสร้างแกนฟันด้วยมัลติคอร์โฟลว์เรซินคอมโพสิต โดยให้มีขนาดแกนฟันเท่ากันทุกกลุ่ม ทดสอบแรงต้านการแตกในแนวดิ่งด้วยเครื่องทดสอบแรงสากล บันทึกแรงที่ทำให้เกิดการแตกมีหน่วยเป็นนิวตัน และสังเกตรูปแบบการแตกหักที่เกิดขึ้น ผลการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยของแรงที่ทำให้เกิดการแตกของชิ้นตัวอย่างและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ที่เปรียบเทียบปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่แตกต่างกันและชนิดของเรซินคอมโพสิตที่ต่างชนิดกันพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p>0.05) ตอนที่ 3 เปรียบเทียบค่าแรงต้านการแตกของการใช้เรซินซีเมนต์พบว่า กลุ่มที่ไม่ใช้เรซินซีเมนต์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.05)เมื่อเปรียบเทียบกับซูปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีเรซินซีเมนต์ และเมื่อเปรียบเทียบเรซินซีเมนต์ทั้งสองชนิดพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p>0.05) และรูปแบบการแตกหักประมาณร้อยละ 50-80 ของรูปแบบการแตกทั้งหมดเกิดที่แกนฟันบริเวณรอยต่อของเดือยและแกนฟัน ยกเว้น กลุ่มที่ไม่ใช้เรซินซีเมนต์มีรูปแบบการแตกอยู่ที่ภายในแกนฟันเพียงอย่างเดียว จึงสรุปได้ว่า แรงต้านการแตกในแนวดิ่งของฟันที่มีปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่โดยรอบแตกต่างกันและการใช้เรซินคอมโพสิตและเรซินซีเมนต์ที่ต่างชนิดกันมีความแตกแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.05) ส่วนการบูรณะโดยไม่ใช้เรซินซีเมนต์จะทำให้ค่าแรงต้านการแตกในแนวดิ่งต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ซูปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี เรซินซีเมนต์(p<0.05) และรูปแบบการแตกที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะที่สามารถกระทำการซ่อมแซมและบูรณะได้