Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของ nandrolone laurate (NL) ในการเสริมการรักษาการเชื่อมกระดูกหัก ภายหลังการแก้ไขภาวะกระดูกหักด้วยวิธีการผ่าตัดในสุนัข สุนัขที่เข้าร่วมการศึกษาเป็นสุนัขที่มีภาวะกระดูท่อนยาวขาหน้าหรือขาหลังหักไม่เกิน 1 สัปดาห์ และเข้ารับการแก้ไขภาวะกระดูกหักด้วยวิธีการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 16 ตัว อายุเฉลี่ย 2.13 ± 0.72 ปี แบ่งสุนัขทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม คือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มศึกษา จำนวนกลุ่มละ 8 ตัว สุนัขกลุ่มศึกษาไดรับการฉีด NL ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อตัว) เข้าใต้ผิวหนังทันทีภายหลังการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกหัก และได้รับการฉีก NL อีก 2 ครั้งในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 หลังการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกหักตรวจวัดระดับ bone alkaline phosphatase (BALP), osteocalcin (OC), total calcium (Ca²⁺) และ inorganic phosphorus (P) ในซีรัม ในสัปดาห์ที่ 1, 2, 4, 8 และ 12 ภายหลังการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกหัก รวมทั้งตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดแดงในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 และ 12 และค่าเอนไซม์ตับ ในสัปดาห์ที่ 0 และ 8 ของการศึกษา ร่วมกับการประเมินการหายของกระดูกด้วยภาพถ่ายรังสีวินิจฉัย ณ สัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 รวมระยะเวลาการศึกษาทั้งสิ้น 12 สัปดาห์
จากผลการศึกษาพบว่า ระดับ BALP เฉลี่ยในซีรัมของสุนัขกลุ่มศึกษาสูงกว่าสุนัขกลุ่มควบคุมตลอดระยะเวลาการศึกษา โดยพบระดับที่สูงกว่าสุนัขกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยทางสถิต (p<0.05) ณ สัปดาห์ที่ 8 และ 12 และเมื่อเปรียบเทียบระดับ BALP เฉลี่ยในซีรัมของสุนัขกลุ่มศึกษากับสัปดาห์ที่ 0 ภายในกลุ่มเดียวกัน พบว่าระดับ BALP เฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 1 และ 12 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับระดับ OC เฉลี่ยในซีรัมของสุนัขทั้งสองกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 0 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบระดับ OC ในซีรัมระหว่างสุนัขกลุ่มศึกษาและสุนัขกลุ่มควบคุม ณ เวลา เดียวกัน พบว่า ระดับ OC เฉลี่ยในซีรัมของสุนัขกลุ่มศึกษาสูงกว่ากลุ่มควบคุมตลอดระยะเวลาการศึกษา ระดับ total Ca²⁺ และ inorganic P ในซีรัมของสุนัขกลุ่มควบคุมอยู่ในระดับปกติ และถึงแม้ระดับ total Ca²⁺ และ inorganic P ในชีรัมของสุนัขกลุ่มศึกษาต่ำกว่าระดับปกติในสัปดาห์ที่ 12 ของการศึกษา แต่ไม่มีสุนัขตัวใดแสดงอาการผิดปกติทางคลินิก ค่าเอนไซม์ที่แสดงการทำงานของตับในสุนัขทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับปกติ และผลจากการประเมินภาพถ่ายรังสีวินิจฉัย พบว่า ในสัปดาห์ที่ 4 สุนัขกลุ่มศึกษามีปริมาณกระดูกซ่อมที่มาพอกบริเวณกระดูกหักมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากผลการทดลองครั้งนี้สรุปได้ว่า การฉีด NL ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เข้าใต้ผิวหนัง ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 ครั้ง มีผลทำให้ระดับ OC และ BALP ในซีรัมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งชี้การทำงานของเซลล์ osteoblast ที่เพิ่มขึ้นระหว่างมีการเชื่อมของกระดูกหักในสุนัข