Abstract:
การประกันภัยก่อสร้างเป็นรูปแบบหนึ่งของการตอบสนองความเสี่ยงในลักษณะการถ่ายโอนความเสี่ยง สัญญาประกันภัยหรือที่เรียกกันว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” มีรูปแบบเฉพาะตัว มีความสลับซับซ้อนและรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งมักถูกละเลยโดยวิศวกรโยธาซึ่งบริหารจัดการโครงการ โดยทั่วไป ข้อกำหนดต่าง ๆ ในสัญญาประกันภัยมักจะถูกกำหนดโดยบริษัทประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยซึ่งอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจในงานก่อสร้างอย่างแท้จริง การละเลยหรือความไม่เข้าใจข้อสัญญาในกรมธรรม์อาจทำให้การประกันภัยไม่ครอบคลุมความเสี่ยงต่างๆ ในงานก่อสร้างซึ่งผู้ว่าจ้างหรือผู้รับจ้างก่อสร้างประสงค์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการบริหารสัญญา เช่น ไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับโครงการได้
งานวิจัยนี้ศึกษาประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในการตอบสนองความเสี่ยงงานก่อสร้างโดยใช้การประกันภัย งานวิจัยเริ่มจากการรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดทำประกันภัยก่อสร้าง สำหรับการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยก่อสร้าง ผู้วิจัยได้ทำการระบุปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและบริหารสัญญาประกันภัยก่อสร้างได้ทั้งสิ้น 29 ปัจจัย ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่ม ในการวิเคราะห์ดังกล่าว ผู้วิจัยอาศัยเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 44 ท่าน จาก 22 องค์กรธุรกิจก่อสร้างที่มีประสบการณ์ในการจัดทำและบริหารสัญญาประกันภัยก่อสร้างในประเทศไทย ส่วนสุดท้ายของงานวิจัยได้นำเสนอรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยก่อสร้างที่ใช้จริงในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย นอกจากนั้นงานวิจัยได้สรุปประเด็นสำคัญและข้อพิจารณาต่าง ๆ ที่ผู้ทำประกันภัยพึงตระหนักในระหว่างการจัดทำและบริหารสัญญาประกันภัย ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างก่อสร้างสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปใช้พัฒนาแนวทางการจัดทำและบริหารสัญญาประกันภัยก่อสร้างสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป