Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าความแข็งของเคลือบฟันระหว่างเคลือบฟันปกติ เคลือบฟันที่ถูกสึกกร่อนด้วยเครื่องดื่มโคลา กับเคลือบฟันที่ถูกส่งเสริมให้มีการสะสมแร่ธาตุกลับคืนด้วยเคซีนฟอสโฟเปปไทด์-อะมอร์ฟัสแคลเซียมฟอสเฟต (ซีพีพี-เอซีพี) และเพื่อเปรียบเทียบผลของซีพีพี-เอซีพีและน้ำลายเทียมต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งเคลือบฟันที่ถูกสึกกร่อนด้วยเครื่องดื่มโคลา โดยเตรียมชิ้นตัวอย่างจากเคลือบฟันของฟันกรามน้อยมนุษย์ที่ถูกถอนจำนวน 10 ซี่ โดยตัดแบ่งฟันตามแกนฟันในแนวด้านใกล้แก้ม-ใกล้ลิ้น และวัสดุค่าความแข็งของเคลือบฟันบริเวณหน้าตัดด้านในของฟันที่ระยะห่างจากขอบนอกของเคลือบฟัน 200 ไมครอน วัดค่าความแข็งของเคลือบฟันก่อนการทดลองด้วยเครื่องวัดความแข็งผิวแบบจุลภาคที่ใช้หัวกดวิกเกอร์ส จากนั้นทำให้เคลือบฟันเกิดการสึกกร่อนด้วยเครื่องดื่มโคลา วัดค่าความแข็งของเคลือบฟันอีกครั้งเพื่อเป็นค่าความแข็งของเคลือบฟันหลังการสึกกร่อน ทำการส่งเสริมให้เกิดการสะสมกลับของแร่ธาตุโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ซีพีที-เอซีพี น้ำลายเทียม ซีพีพี-เอซีพีร่วมกับน้ำลายเทียม และน้ำปราศจากไอออน วัดค่าความแข็งของเคลือบฟันเพื่อเป็นค่าความแข็งของเคลือบฟันหลังการทดลอง นำค่าความแข็งของเคลือบฟันก่อนการทดลอง หลังการสึกกร่อน และหลังการทดลองมาทดสอบด้วยสถิติแพร์แซมเปิล ที เทสท์ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าเครื่องดื่มโคลามีผลทำให้เคลือบฟันมีค่าความแข็งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ซีพีพี-เอซีพี น้ำลายเทียม และซีพีพี-เอซีพีร่วมกับน้ำลายเทียมทำให้ค่าความแข็งของเคลือบฟันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ซีพีพี-เอซีพี และซีพีพี-เอซีพีร่วมกับน้ำลายเทียมสามารถทำให้เคลือบฟันที่ถูกสึกกร่อนมีค่าความแข็งเพิ่มขึ้นได้มากกว่าน้ำลายเทียมอย่างมีนัยสำคัญ