Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อเปรียบเทียบค่าแรงยึดแบบเฉือน/ปอกของแบรกเกตโลหะต่อพอร์ซเลนซึ่งผ่านการปรับสภาพผิวสองวิธี กลุ่มตัวอย่างเป็นชิ้นพอร์ซเลน จำนวน 60 ชิ้น (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 มม. หนา 4 มม.) ขจัดผิวเคลือบของพอร์ซเลนทุกชิ้นด้วยหัวกรอหินสีเขียวก่อนแบ่งเป็นกลุ่มอย่างสุ่ม 2 กลุ่ม (กลุ่มละ 30 ชิ้น) กลุ่มที่ 1 ปรับสภาพผิวพอร์ซเลนด้วยเจลแอซิดูเลตฟอสเฟตฟลูออไรด์ (เอพีเอฟ) ความเข้มร้อยละ 1.23 นาน 10 นาที ส่วนกลุ่มที่ 2 ปรับสภาพผิวพอร์ซเลนด้วยกรดฟอสฟอริกความเข้มร้อยละ 37 นาน 1 นาที ร่วมกับไซเลน หลังจากนั้นนำชิ้นตัวอย่างทั้งหมดมาติดแบรกเกตโลหะซึ่งเป็นแบรกเกตสำหรับฟันตัดซี่กลางบนด้วยวัสดุยึดชนิดบ่มตัวด้วยแสงและนำไปแช่ในน้ำกลั่นอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสนาน 24 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบแรงยึด ทดสอบด้วยเครื่องทดสอบแรงทั่วไปอินสตรอนกำหนดตุ้มน้ำหนัก 250 นิวตัน ที่ cross head speed 0.5 มม.ต่อนาที จากนั้นทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดของทั้งสองกลุ่มด้วยสถิติ independent t-test ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการวิเคราะห์พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างค่ากำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอก ระหว่างกลุ่มที่ปรับสภาพผิวพอร์ซเลนด้วยเจลเอพีเอฟ (9.421+-1.925 เมกะปาสคาล) และกลุ่มที่ปรับสภาพผิวด้วยไซเลน (9.680+-1.913 เมกะปาสคาล) ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าเจลเอพีเอฟ 1.23% สามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกในการปรับสภาพผิวพอร์ซเลนก่อนการติดแบรกเกตได้ เมื่อมีการขจัดผิวเคลือบของพอร์ซเลนด้วยหัวกรอหินสีเขียวมาก่อน