Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) วิธีการรักษาพยาบาลของประชากรวัยแรงงาน และ (2) ปัจจัยที่มีผลต่อวิธีการรักษาพยาบาลของประชากรในวัยแรงงาน และ (3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการรักษาพยาบาลกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประชากรวัยแรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2552 ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในครัวเรือน การวิจัยครั้งนี้เลือกศึกษาเฉพาะประชากรอายุระหว่าง 15 ถึง 59 ปี ที่มีอาการป่วยในช่วง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีจำนวนตัวอย่างที่ถ่วงน้ำหนักแล้วทั้งสิ้น 6,524 คน ผลการศึกษาวิธีการรักษาพยาบาล พบว่าตัวอย่างเลือกวิธีรักษาแบบแผนปัจจุบัน ร้อยละ 63.7 เลือกวิธีซื้อยากินเอง ร้อยละ 27.1 ไม่รักษา ร้อยละ 8.5 และซื้อยากินเอง ร้อยละ 0.7 จากการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก พบว่า ตัวแปรจำนวนสมาชิกในครัวเรือน ภาค โรคประจำตัว การรับรู้สถานะสุขภาพของตนเอง สาเหตุการเจ็บป่วย และจำนวนวันที่หยุดกิจวัตรประจำวัน มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ตัวแปรอิสระทั้งหมดสามารถร่วมกันอธิบายการแปรผันของวิธีการรักษาพยาบาลได้ร้อยละ 37.5 นอกจากนี้ผลการศึกษาการใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประชากรวัยแรงงาน พบว่าผู้ที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือรัฐวิสาหกิจ เลือกใช้สวัสดิการที่ตนได้รับในสัดส่วนมากที่สุด เท่ากับร้อยละ 60.2 สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เลือกไม่ใช้สิทธิ์สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล คือ การเจ็บป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย