Abstract:
การศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ของผลการตรวจเซลล์โซมาติกในน้ำนมรายเต้าระหว่างวิธีการตรวจนับด้วยเครื่องนับระบบอิเลคทรอนิคชนิด Fossomatic counter และชนิด Coulter counter โดยเก็บตัวอย่างน้ำนมรายเต้า จำนวน 321 ตัวอย่างจากแม่โค 81 ตัว พบว่าค่าเซลล์โซมาติกที่ตรวจนับได้จากเครื่องนับชนิด Fossomatic counter (FSCC) และชนิด Coulter counter (CSCC) มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ (r = 0.88, P<0.05) 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฤดูกาล ระดับผลผลิตน้ำนมของฟาร์ม และระดับเซลล์โซมาติกในน้ำนมถังรวม โดยคัดเลือกฟาร์มของสหกรณ์แห่งหนึ่งในภาคตะวันตกของประเทศไทย (n = 278 ฟาร์ม) ที่มีข้อมูลการตรวจจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมถังรวม (Bulk tank somatic cell count; BTSCC) และปริมาณผลผลิตน้ำนมรายเดือนในระหว่างปี 2551 อย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป พบว่า ความชุกของฟาร์มที่มีค่า BTSCC สูง (ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตของ BTSCC มากกว่า หรือเท่ากับ 400,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร) เท่ากับร้อยละ 65.47 (182/278) โดยระดับ BTSCC มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำนมของฟาร์มในฤดูร้อน และฤดูฝนอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) และ 3) ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมถังรวมสูง โดยสุ่มตัวอย่าง จำนวน 100 ฟาร์ม แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มฟาร์มที่มี BTSCC สูง และกลุ่มฟาร์มที่มี BTSCC ต่ำ โดยกำหนดกลุ่มฟาร์มที่มี BTSCC สูง ณ วันที่เข้าฟาร์ม (ค่า BTSCC มากกว่า หรือเท่ากับ 400,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร) ผลการศึกษาโมเดลสุดท้าย พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการมี BTSCC สูง ณ วันที่เข้าฟาร์ม คือ ฟาร์มที่มีประวัติจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมถังรวมสูงของรอบปีที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตมากกว่า หรือเท่ากับ 490,569 เซลล์ต่อมิลลิลิตร) ส่วนปัจจัยป้องกันที่เกี่ยวข้องกับการมี BTSCC สูง ณ วันที่เข้าฟาร์ม คือ ฟาร์มที่มีจำนวนแม่โครีดนมส่วนใหญ่ (มากกว่า หรือเท่ากับ 87.7%) ให้ผลการตรวจเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการด้วยซีเอ็มทีเป็นปกติ (P<0.05)