Abstract:
ศึกษาลักษณะรูปร่างและไซโตเคมีของเซลล์เม็ดเลือด โลหิตวิทยา และชีวเคมีของปลากระเบนราหู (Himantura chaophraya) ซึ่งเป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากตัวอย่างปลากระเบน โตเต็มวัยเพศผู้และเพศเมีย กลุ่มละ 27 ตัวอย่าง จากแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ในช่วงเดือน มี.ค. 2552 - ก.พ. 2553 บันทึกข้อมูลด้านสุขภาพเบื้องต้นและวัดขนาดลำตัวจากทุกตัวอย่างรวมทั้งการวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำที่ปลาอาศัยอยู่ ผลการศึกษาพบว่าปลากระเบนทุกตัวมีสุขภาพดีไม่พบพยาธิภายนอก โดยปลากระเบนเพศเมียมีความยาวลำตัวรวมหาง ความยาวลำตัว และความกว้างลำตัว ยาวกว่าปลากระเบนเพศผู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศต่ออัตราส่วนความกว้างลำตัวต่อความยาวลำตัว ในส่วนของค่าโลหิตวิทยาพบว่าปลากระเบนเพศผู้มีจำนวนเม็ดเลือดขาวโดยรวมสูงกว่าปลากระเบนเพศเมียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซึ่งสามารถจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาวในปลากระเบนราหูได้เป็น 5 ชนิด ตามปริมาณการพบ คือ ลิมโฟไซต์ (65.54±3.79%) โมโนไซต์ (2.91±0.83%) และแกรนูโลไซต์อีก 3 ชนิดย่อย ได้แก่ อิโอสิโนฟิลลิก-เฮเทอโรฟิลชนิดที่มีแกรนูลรูปกระสวย(15.74±2.70%) อิโอสิโนฟิลลิก-เฮเทอโรฟิลชนิดที่มีแกรนูลกลม (4.35±1.14%) และเฮเทอโรฟิลที่แกรนูลติดสีเป็นกลางหรือ นิวโทรฟิลิก-เฮเทอโรฟิล (11.52±2.20%) ผลการศึกษาจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนและปฏิกิริยาการติดสีทางไซโตเคมีพบว่าปลากระเบนราหูมีลักษณะของเม็ดเลือดแดง ลิมโฟไซต์ โมโนไซต์และทรอมโบไซต์ที่คล้ายคลึงกับในปลากระดูกอ่อนและปลากระดูกแข็งชนิดอื่น ในขณะที่อิโอสิโนฟิลลิก-เฮเทอโรฟิลชนิดที่มี แกรนูลรูปกระสวยมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับเฮเทอโรฟิลและอิโอสิโนฟิลลิก-เฮเทอโรฟิลชนิดที่มีแกรนูลกลมมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับอิโอสิโนฟิลในสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ปีก ส่วนนิวโทรฟิลิก-เฮเทอโรฟิลมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับนิวโทรฟิลในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผลการศึกษาทางชีวเคมีพบว่าปลากระเบนเพศผู้มีปริมาณแมกนีเซียมและคลอไรด์ในซีรัมสูงกว่าปลากระเบนเพศเมียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนปลากระเบนเพศเมียมีปริมาณเอ็นไซม์ Creatinine Kinase ที่สูงกว่าปลากระเบนเพศผู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เช่นกัน การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นรายงานด้านสุขภาพครั้งแรกในปลากระเบนราหู ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าสูงในเชิงอนุรักษ์และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ (IUCN Red list species)