Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการบริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้าของสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการเบ็นช์มาร์คกิ้ง กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ วิธีการเบ็นช์มาร์คกิ้ง เป็นเครื่องมือใช้สำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของวงการธุรกิจมาก่อน และมาเป็นที่นิยมในวงการหัองสมุด กระบวนการเป็นการศึกษาวิเคราะห์หาความแตกต่าง จุดอ่อน จุดแข็ง ของคู่เปรียบเทียบที่มีวิธีการปฏิบัติการเป็นเลิศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางการปรับปรุงงานของตน ผลการวิจัยที่ได้จากการทำเบ็นช์มาร์คกิ้ง ได้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ 1. ควรมีความแตกต่างในเรื่องระยะเวลาการให้บริการในระหว่างเปิด-ปิด ภาคการศึกษา และระหว่างสอบ เพื่อสนองความต้องการของผู้รับบริการและเป็นการใช้งบประมาณ กำลังคนอย่างมีคุณค่า 2. ควรมีการแบ่งพื้นที่การให้บริการที่นั่งอ่านเป็นสัดส่วนของระดับการอนุญาตให้ใช้เสียงได้ มีการจัดห้องประชุมกลุ่มย่อย ห้องศึกษาเดี่ยว เขตอนุญาตใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น 3. ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริการ สื่อสารกับผู้รับบริการให้เต็มศักยภาพ ควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น scanner และ printer และมีบริการ Documenta Delivery ไว้ให้บริการคณาจารย์และนักวิจัย 4. บรรณารักษ์ฝ่ายต่าง ๆ ควรมีส่วนร่วมในการให้บริการสารสนเทศ และบรรณารักษ์ฝ่ายบริการสารสนเทศ ควรจะทำหน้าที่ช่วยคัดเลือกหนังสือ ทรัพยากรสารสนเทศเข้าห้องสมุดด้วย สำหรับการพัฒนาบรรณารักษ์นั้น นอกจากการเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญทางวิชาชีพแล้ว ควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมประชุม สัมมนา ทางวิชาการด้วย เพื่อสร้างเสริมความรู้ในเนื้อหาเพื่อให้บริการคุณภาพ 5. คณาจารย์ นักวิจัยควรจะได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ สำหรับการซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่แต่ละคนต้องการใช้