Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการที่วัฒนธรรมถูกทำให้กลายเป็นสินค้าโดยเลือกกรณีศึกษามวยไทยที่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์คือรายการมวยไทย 7 สี ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยศึกษาวิเคราะห์จากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในรายการมวยไทย 7 สี คือ โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่าย กลุ่มนักมวย และผู้ชมรายการดังกล่าว การวิเคราะห์ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักมาร์กซิสต์ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำให้เป็นสินค้าโดยเฉพาะประเด็นการผันเปลี่ยนจากมูลค่าใช้สอย (use value) มาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value) และกลไกการตั้งราคา (pricing) และส่วนของเศรษฐศาสตร์การเมืองสื่อสารมวลชน (political economy of mass media) เพื่อวิเคราะห์บทบาทการสนับสนุนส่งเสริมของสื่อโทรทัศน์ในกระบวนการทำให้มวยไทยกลายเป็นสินค้า รวมไปถึงการนำทฤษฎีของทุนวัฒนธรรมของสำนักบูร์ดิเออในส่วนของแนวคิดการใช้ร่างกายเป็นทุน (bodily capital)เพื่อวิเคราะห์การใช้เรือนร่างของนักมวยในฐานะที่เป็นเพียงปัจจัยการผลิตหลักสำหรับผันแปรมวยไทยให้กลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง
ผลการวิจัยพบว่า มวยไทยในฐานะที่เป็นศิลปวัฒนธรรมแห่งการต่อสู้ของไทยถูกทำให้มีฐานะเป็นเพียงสินค้าอย่างหนึ่งโดยดูได้จากกลไกการตั้งราคา (pricing) ในการแข่งขันชกมวยที่เข้ามามีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ทำให้สารัตถะของการชกมวยไทยจากที่เคยมุ่งเน้นเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมไทยเพื่อเฟ้นหาคนมีฝีมือเชิงมวยและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปสู่การชกเพื่อหารายได้เป็นหลัก กลไกราคาพัฒนาจากการชกเพื่อชิงรางวัลไปสู่การชกแข่งขันเพื่อการหาเลี้ยงชีพ นักมวยได้ใช้เรือนร่างของตนเองเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตผ่านการฝึกซ้อม ควบคุม และสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย รวมถึงนักมวยถูกผลิตขึ้นมาผ่านการขูดรีดพลังแรงงานเพื่อสนองความต้องการของนายทุน เมื่อมวยไทยเข้าไปเผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ก็ยิ่งทำให้กระบวนการทำให้เป็นสินค้ามีความชัดเจนและซับซ้อนขึ้น กล่าวคือมวยไทยได้กลายเป็นเพียงสินค้าประเภทหนึ่งที่กลุ่มทุนสื่อโทรทัศน์ผลิตออกมาขายให้กับกลุ่มทุนสินค้าเพื่อสร้างผลกำไรสะสมมูลค่าส่วนเกินให้สื่อโทรทัศน์ผ่านค่าโฆษณา นักมวยที่ถูกผลิตทางรายการมวยไทย 7 สี ในตัวอย่างของกรณีศึกษานี้ จึงมีลักษณะที่ถูกผลิตขึ้นจำนวนมากในรูปแบบเดียวกันเพื่อสนองความต้องการของผู้ชมมากกว่าเน้นคุณภาพแม่ไม้มวยไทยอย่างแท้จริง เกิดกระบวนการสะสมความมั่งคั่งจากมูลค่าส่วนเกินของสื่อโทรทัศน์