Abstract:
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการกระตุ้นด้วยแสงของสารยึดต่อค่ากำลังแรงยึดดึงและค่ากำลังแรงยึดเฉือนระหว่างเรซินซีเมนต์และเรซินคอมโพสิตโดยใช้สารยึดและเรซินซีเมนต์อย่างละ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สารยึดผลิตภัณฑ์ออพติบอนด์ ออลอินวันใช้คู่กับเรซินซีเมนต์ผลิตภัณฑ์เน็กซัสทรี และสารยึดผลิตภัณฑ์สก็อตช์บอนด์ ยูนิเวอร์แซล ใช้คู่กับเรซินซีเมนต์ผลิตภัณฑ์รีไลเอ็กซ์ อัลทิเมต การทดสอบค่ากำลังแรงยึดดึง เตรียมแท่งเรซินคอมโพสิตที่มีการเตรียมผิวโดยการพ่นด้วยอะลูมิเนียมออกไซด์จำนวน 60 ชิ้น แบ่งแบบสุ่มได้เป็น 3 กลุ่ม ๆละ 10 ชิ้นต่อเรซินซีเมนต์ 1 ผลิตภัณฑ์ ตามวิธีการเตรียมผิวด้วยสารยึดโดยกลุ่มที่ 1 ไม่มีการทาสารยึดบริเวณพื้นผิวยึด กลุ่มที่ 2 ทาสารยึดและมีการกระตุ้นด้วยแสง ส่วนกลุ่มที่ 3 ทาสารยึดและไม่มีการกระตุ้นด้วยแสง จากนั้นนำแท่งเรซินคอมโพสิต 2 ชิ้นมายึดเข้าด้วยกันด้วยเรซินซีเมนต์พร้อมกับการกระตุ้นด้วยแสงและนำไปตัดแต่งเป็นชิ้นทดสอบรูปร่างดัมเบลล์ แล้วทดสอบค่ากำลังแรงยึดดึง การทดสอบค่ากำลังแรงยึดเฉือน เตรียมชิ้นยึดเรซินคอมโพสิตจำนวน 60 ชิ้น โดยยึดแท่งเรซินคอมโพสิตเข้ากับท่อพีวีซี นำไปพ่นด้วยอะลูมิเนียมออกไซด์ และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามวิธีการเตรียมผิวด้วยสารยึดเหมือนกับการทดสอบค่ากำลังแรงยึดดึง หลังจากนั้นนำมายึดกับเรซินซีเมนต์ที่อยู่ในท่อพลาสติกใสพร้อมกับการกระตุ้นด้วยแสง แล้วทดสอบค่ากำลังแรงยึดเฉือน ผลการทดสอบค่ากำลังแรงยึดดึงนั้น พบว่ากลุ่มที่ 3 ของเรซินซีเมนต์ผลิตภัณฑ์รีไลเอ็กซ์ อัลทิเมต มีค่ากำลังแรงยึดดึงน้อยที่สุดและเกิดความล้มเหลวบริเวณรอยต่อระหว่างชิ้นทดสอบเรซินคอมโพสิตกับเรซินซีเมนต์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการทดสอบค่ากำลังแรงยึดเฉือนนั้นพบว่าในกลุ่มที่ 1 ของเรซินซีเมนต์ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์มีค่ากำลังแรงยึดเฉือนน้อยที่สุดและส่วนใหญ่จะเกิดความล้มเหลวบริเวณรอยต่อระหว่างชิ้นทดสอบเรซินคอมโพสิตกับเรซินซีเมนต์ สรุปได้ว่าการเตรียมพื้นผิวของชิ้นงานเรซินคอมโพสิตโดยการพ่นด้วยอะลูมิเนียมออกไซด์ร่วมกับการทาสารยึดที่พื้นผิวยึดของชิ้นงานแล้วกระตุ้นด้วยแสงเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มค่ากำลังแรงยึด