Abstract:
พยาธิ Brugia pahangi เป็นพยาธิฟิลาเรียที่จัดอยู่ในแฟมมิลี่ Filariidae ก่อให้เกิดโรค lymphatic filariasis ทั้งในสุนัข และแมว พยาธิชนิดนี้มีแมวเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญซึ่งอาจติดต่อไปยังคนได้ จึงทำการศึกษาผลทางปรสิตวิทยา และค่าทางพยาธิวิทยาคลินิกในแมวทดลองจำนวน 22 ตัว ที่ได้รับ L3 ของพยาธิ B. pahangi ในจำนวนที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มการทดลอง กลุ่มที่ 1 แมวกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับตัวอ่อนระยะที่ 3 (L3) กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 เป็นแมวกลุ่มที่ได้รับ L3 บริเวณด้านท้องของขาหลังด้านซ้ายจำนวน 100, 300 และ 500 ตัว ตามลำดับ และการทดลองพบว่าอาการทางคลินิกพบว่าแมวทดลองทุกกลุ่มไม่มีอาการไข้ และความผิดปกติของร่างกายใดๆ นอกจากแมวกลุ่มที่ได้รับ L3 ทุกกลุ่มมีการบวมของ superfacial popliteal lymph node บริเวณขาด้ายซ้ายของแมวในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากได้รับเชื้อ ผลทางปรสิตวิทยาพบว่าจำนวน L3 ที่เพิ่มขึ้นทำให้แมวในกลุ่มที่ได้รับ L3 ทั้ง 3 กลุ่มมีอัตราการตรวจพบไมโครฟิลาเรีย และความหนาแน่นของไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ในขณะที่ระยะเวลาการตรวจพบไมโครฟิลาเรีย (pre-patent period) สั้นลง โดยแมวทดลองในกลุ่มที่ 4 (500 L3) มีอัตราการตรวจพบไมโครฟิลาเรียสูงสุดคือ 100% มีความหนาแน่นของไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดสูงสุดคือ 3,678 ตัว/เลือด1 ml. ในสัปดาห์ที่ 24 และมีระยะเวลาการปรากฏตัวของไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดแมวครั้งแรกสั้นที่สุดคือ 56 วัน และการศึกษาช่วงเวลาการปรากฏตัวของไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดแมว พบว่ามีการปรากฏตัวของไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดเป็นแบบ nocturnal sub-periodic โดยมีช่วงเวลาการปรากฎตัวสูงสุดคือเวลา 19.38 น. และ 19.03 น. การศึกษาการเปลี่ยนแปลงค่าโลหิตวิทยา และค่าชีวเคมีเลือด พบว่าจำนวน L3 ที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวรวม เซ็กเมนต์นิวโทรฟิล อีโอซิโนฟิล และปริมาณเอ็นไซม์อะลานินทรานส์เฟอร์เรส และอัตราส่วนของอัลบูมินต่อกลอบูลินเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนลิมโฟไซต์ ปริมาณเอ็นไซม์อัลคาร์ไลน์ฟอสฟาเตต ปริมาณโปรตีนในเลือด และปริมาณอัลบูลินลดลง แต่จำนวน L3 ที่แมวได้รับนั้นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเม็ดเลือดแดงรวม ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน จำนวนเรติคูโลซัยต์ เม็ดเลือดขาวชนิดแบนด์นิวโทรฟิล เบโซฟิล โมโนซัยต์ ปริมาณกลอบูลิน ปริมาณครีเอตินิน และปริมาณยูเรียไนโตรเจนในเลือด แต่จากผลการศึกษาค่าโลหิตวิทยา และค่าชีวเคมีเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น พบว่าทุกค่ายังคงอยู่ในช่วงค่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิง โดยสรุปจำนวน L3 ของพยาธิ B. pahangi ที่แมวได้รับในจำนวนที่แตกต่างกันนั้นมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางปรสิตวิทยาและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าทางพยาธิวิทยาคลินิกบางค่าเท่านั้น ซึ่งข้อมูลนี้สามารถใช้ในการศึกษาการติดพยาธิ B. pahangi ในแมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆได้ต่อไป