Abstract:
การศึกษาถึงผลของไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ที่แยกได้ในประเทศไทย ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร โดยทำการแบ่งสุกรอายุ 17 วัน จำนวน 28 ตัว ออกเป็น 5 กลุ่มๆละ 5-7 ตัว กลุ่ม A เป็นกลุ่มควบคุมบวกได้รับไวรัสอหิวาต์สุกรสายพันธุ์รุนแรง (Bangkok 1950) ณ 4 สัปดาห์หลังเริ่มการทดลอง กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร ณ วันที่ 7 ของการทดลอง แล้วฉีดเชื้อพิษทับด้วยไวรัสอหิวาต์สุกรสายพันธุ์รุนแรงหลังฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ กลุ่ม C ได้รับเชื้อไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ที่แยกได้ในประเทศไทย (01NP1, US genotype) ณ วันเริ่มต้นการทดลอง แล้วฉีดเชื้อพิษทับด้วยไวรัสอหิวาต์สุกรสายพันธุ์รุนแรงหลังได้รับไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส เป็นเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่ม D ได้รับเชื้อไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส (01NP1) ณ วันเริ่มต้นการทดลอง ก่อนทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรหลังได้รับไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วฉีดเชื้อพิษทับด้วยไวรัสอหิวาต์สุกรสายพันธุ์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และกลุ่ม E เป็นกลุ่มควบคุมลบที่ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร และไม่ได้รับไวรัสทั้งสองชนิด สุกรกลุ่ม A กลุ่ม C และกลุ่ม D แสดงอาการป่วยของโรคอหิวาต์สุกรในวันที่ 2 3 และ 5 ตามลำดับ หลังการฉีดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร สุกรกลุ่ม A ทุกตัวตายระหว่างวันที่ 9 - 11 หลังการฉีดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร แต่สุกรกลุ่ม C และกลุ่ม D ตายเร็วกว่าสุกรกลุ่ม A โดยสุกรกลุ่ม C ทุกตัวตายระหว่างวันที่ 7-9 หลังการฉีดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร และกลุ่ม D จำนวน 4 ตัว ตายระหว่างวันที่ 6-8 หลังการฉีดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร และสุกรกลุ่ม D จำนวน 1 ตัว รอดชีวิตจนถึงวันสิ้นสุดการทดลอง สุกรกลุ่ม A กลุ่ม C และกลุ่ม D เริ่มมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำในวันที่ 3 หลังการฉีดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร สุกรกลุ่ม D มีการตอบสนองของ neutralizing antibody ต่อวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรที่ต่ำกว่าสุกรกลุ่ม B ณ วันที่ 21 หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร และไม่พบภาวะ anamnestic antibody response หลังการฉีดเชื้อพิษทับด้วยไวรัสอหิวาต์สุกร สามารถเพาะแยกเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรได้จากทั้งซีรั่ม และอวัยวะต่างๆ ของสุกรกลุ่ม A กลุ่ม C และกลุ่ม D ทั้งนี้สุกรกลุ่ม C และกลุ่ม D พบลักษณะรอยโรคทางพยาธิวิทยาที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส ในปอดและต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้สุกรทั้งสองกลุ่มที่ตายก่อนการฉีดไวรัสอหิวาต์สุกรสามารถพบรอยโรคจุดเลือดออกที่ผิวไต และภาวะ non-suppurative meningoencephalitis ในสมองจากการติดเชื้อไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์อเมริกา และพบลักษณะรอยโรคทางพยาธิวิทยาของโรคอหิวาต์สุกร เช่น จุดเลือดออกในอวัยวะต่างๆ splenic infarction เกิด lymphoid depletion ในเนื้อเยื่อน้ำเหลือง และภาวะ non-suppurative meningoencephalitis ในสมอง ในสุกรทุกกลุ่มที่ได้รับไวรัสอหิวาต์สุกรยกเว้นสุกรกลุ่ม B ลักษณะรอยโรคทางพยาธิวิทยาพบว่าไวรัสทั้งสองชนิดทำให้เกิดจุดเลือดออกที่ผิวไต และภาวะ non-suppurative meningoencephalitis แต่พบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง และภาวะ lymphoid depletion ในเนื้อเยื่อน้ำเหลืองเฉพาะในสุกรกลุ่ม A กลุ่ม C และกลุ่ม D ในขณะที่การเกิด interstitial pneumonia พบเฉพาะในสุกรที่ได้รับไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส เท่านั้น นอกจากนี้สุกรกลุ่มที่ได้รับไวรัสทั้งสองชนิดร่วมกันสามารถพบ splenic infarction ซึ่งไม่พบในสุกรที่ได้รับไวรัสอหิวาต์สุกรเพียงอย่างเดียว จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าไวรัสพี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ที่แยกได้ในประเทศไทยมีผลในการลดประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรทั้งในด้านการป้องกันอาการทางคลินิก ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ อัตราการตาย การมีไวรัสในกระแสเลือด และอวัยวะต่างๆ การเกิดรอยโรคทางพยาธิวิทยา และการสร้าง neutralizing antibody