Abstract:
ปลากระเบนเป็นปลากระดูกอ่อนเช่นเดียวกับปลาฉลาม ในบางตัวพบว่าบนหางมีเงี่ยงที่มีหนามแหลมลักษณะคล้ายเลื่อยและมีเยื่อบุผิวปกคลุมโดยรอบ เงี่ยงของปลากระเบนบางสายพันธุ์มีพิษ จากรายงานที่ผ่านมาพบว่ามีปลากระเบนกว่า 70 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยที่พบปลากระเบนจำนวน 7 สายพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งปลากระเบนราหูเป็นปลากระเบนสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่หายากและมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์โดยสมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเนื่อเยื่อบริเวณรอบเงี่ยงโดยอาศัยวิธีการโซเดียมโดเดซิลซัลเฟตพอลีอะคริลาไมด์อิเล็กทรอฟอเรซีส(SDS-PAGE หรือ Sodium dodecyl sulfate polyacrylamide gel electrophoresis) ซึ่งผลการทดลองบ่งชี้ว่าเนื่อเยื่อที่ขูดได้จากเงี่ยงและเมือกที่ขูดได้จากบริเวณรอบตัวยกเว้นส่วนของเงี่ยงนั้นประกอบด้วยโปรตีนหลายชนิดที่คล้ายกัน (น้ำหนักโมเลกุล 25 kDa, 50 kDa และมากกว่า 75 kDa) พบแถบโปรตีนอย่างต่ำ 16 แถบอยู่บนเจลที่ได้จากเนื้อเยื่อหุ้มรอบเงี่ยง ส่วนแถบโปรตีนที่พบเฉพาะในเจลที่ได้จากเนื้อเยื่อรอบเงี่ยงแต่ไม่พบบนเจลที่ได้จากเมือกรอบตัวมีน้ำหนักโมเลกุลอยู่ที่ประมาณ 15 kDa งานวิจัยนี้ยังได้นำเอาเงี่ยงของปลากระเบนราหูมาวิเคราะห์โดยวิธีการทางพยาธิวิทยาและย้อมสีพิเศษได้แก่ PAS และ Alcian blue พบว่าเซลล์คัดหลั่งพิษชนิดพิเศษกระจายอยู่ในเยื่อบุผิวรอบเงี่ยงและย้อมไม่ติดสีทั้ง PAS และ Alcian blue แต่เซลล์เยื่อบุผิวทั่วไปย้อมติดสี PAS และ Alcian blue