Abstract:
ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สยามได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด สืบเนื่องจากการแผ่ขยายเข้ามาของมหาอำนาจยุโรปทั้งอิทธิพลทางการเมืองและการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสยามด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญาการค้าในช่วงทศวรรษ 1850 ได้นำสยามเข้าสู่วงโคจรของความทันสมัยในศตวรรษนั้น ด้วยการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับ “มาตรฐานสากล” รัฐบาลสยามจำเป็นต้องสร้าง “กรุงเทพฯ สบสมัย” ตามแบบอย่างตะวันตก การศึกษานี้พบว่า การปรับปรุงกรุงเทพฯ ให้ทันสมัย ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากเมืองป้อมปราการคูค่ายเป็นเมืองสมัยใหม่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ค.ศ. 1897 ที่สำคัญกว่านั้น กรุงเทพฯ ภายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับรูปแบบ “ความทันสมัยแบบอาณานิคม” อย่างเมืองสิงคโปร์และปัตตาเวียมาเป็นต้นแบบสำหรับกรุงเทพฯ เหตุผลคือว่า ทั้งสองพระองค์มีความคุ้นเคยกับสิงคโปร์และปัตตาเวียมากกว่าเมืองอาณานิคมอื่น ๆ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ประพาสเมืองอาณานิคมทั้งสองก่อนการเสด็จฯ ประพาสยุโรปเป็นเวลาถึง 26 ปี เป็นที่สังเกตได้ว่า ในช่วงเวลา 26 ปีของการปฏิรูป รูปลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่เห็นอยู่หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างถนนและห้องแถว และโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแต่ได้รับอิทธิพลมาจากสิงคโปร์และปัตตาเวีย