Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร และเปรียบเทียบความแตกต่างของแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครระหว่างเพศ ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นผู้สูงอายุชาวไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุในสังกัดสหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยใช้การสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายชั้น (Muti-Stage Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและได้ทดสอบคุณภาพ มีค่าความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) เท่ากับ 0.93 มีค่าความเที่ยง (Reliability) เท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way : ANOVA) หรือ การทดสอบค่าเอฟ (F-test) การทดสอบรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least significant difference : LSD) ผลการวิจัยพบว่า
1) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 65 - 69 ปี แต่งงานแล้ว มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีอาชีพก่อนเกษียณคือรับราชการ อาชีพปัจจุบันคือไม่ได้ทำงาน มีรายได้ปัจจุบันต่ำกว่า 10,000 บาท 2) วัตถุประสงค์หลักในการท่องเที่ยวคือการพักผ่อนหย่อนใจ โดยใช้รถเช่าเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง มักจะเดินทางท่องเที่ยวกับเพื่อน ใช้ระยะเวลาในการท่องเที่ยว 1-2 วัน มีช่วงเวลาที่มักเดินทางท่องเที่ยวคือวันเสาร์ - อาทิตย์ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ยต่อครั้งต่ำกว่า 1,000 บาท ชอบท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจากเพื่อน 3) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก ยกเว้นแรงจูงใจทางสถานภาพและชื่อเสียงอยู่ในระดับน้อย 4) เมื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศแตกต่างกัน พบว่า แรงจูงใจทางสถานภาพและชื่อเสียงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5) เมื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกัน พบว่า แรงจูงใจทางกายภาพและแรงจูงใจระหว่างบุคคลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6) เมื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน พบว่า ไม่แตกต่างกัน