Abstract:
โครงการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นโครงการของภาครัฐ ได้มีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ตุลาคม พ.ศ.2548 และเสร็จตามเป้าหมายในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 การวิจัยนี้เป็นการสำรวจบ้านในกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 110 หลัง โดยได้รับเงินสงเคราะห์จำนวน 10,000 บาทต่อหลัง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร ศึกษาลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ สภาพการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร และเพื่อศึกษาการดำเนินงานการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยของหน่วยงานภาครัฐ จากการสำรวจและสัมภาษณ์สามารถเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างได้จำนวน 53 หลัง โดยแบ่งเป็นบ้านชั้นเดียว 39 หลัง และบ้านสองชั้น 14 หลัง โดยสามารถสรุปรูปแบบการซ่อมแซมบ้านได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ การสร้างบ้านใหม่ทั้งหลัง มีจำนวน 3 หลัง และซ่อมแซมบ้านบางส่วน มีจำนวน 50 หลัง บ้านที่ใช้เงินงบประมาณของโครงการที่ให้งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัวที่มีรายได้น้อยและเป็นผู้ด้อยโอกาส ด้านการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้าน พบว่าหลังคาเป็นส่วนของอาคารที่กลุ่มตัวอย่างได้รับการซ่อมแซมมากที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้ป้องกันแดด ลม ฝน ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ส่วนห้องน้ำจะเป็นส่วนอาคารที่ได้รับการซ่อมแซมน้อยที่สุด และยังพบว่กลุ่มตัวอย่างที่ปรับปรุงห้องน้ำ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ส้วมแบบนั่งยอง เนื่องจากราคาถูกกว่า และใช้โถที่มีอยู่เดิม โดยไปปรับปรุงในส่วนของพื้น ผนัง และหลังคาแทน ส่วนของอาคารอื่นๆ ที่มีความสำคัญสำหรับสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ราวจับ หรือราวกันตก จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างยังไม่ให้ความสนใจในการปรับปรุง ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 50 เป็นผู้ที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปรกติ เนื่องจากร่างกายที่ไม่แข็งแรง แต่สภาพปัจจุบันของบ้านที่ได้รับการซ่อมแซมตามโครงการแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีสภาพบ้านที่มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับปรุงสภาพบ้าน โดยสามารถสรุปปัญหาที่พบ คือจุดอันตราย 6 จุด อันได้แก่ พื้นและสภาพแวดล้อมภายนอก พื้นต่างระดับ พื้นภายในบ้าน บันไดขึ้นชั้นสอง พื้นห้องน้ำ ชนิดของโถส้วม ซึ่งควรพิจารณาซ่อมแซมไปพร้อมกับความแข็งแรงปลอดภัยของบ้าน ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสมในท้องถิ่น แทนวัสดุสมัยใหม่ซึ่งบางชนิดมีสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต เช่น วัสดุที่นำความร้อน เป็นต้น โดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในท้องถิ่น ยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพในชุมชน มีราคาถูก และอาจสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนด้วย และจากผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร่างกายไม่แข็งแรง มักเคลื่อนที่ร่างกายและทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการนั่ง เพราะฉะนั้นขนาดพื้นที่ และระยะต่างๆ จึงควรพิจารณาให้เหมาะสมกับการใช้สอยของผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวของลูก และมีสมาชิกครอบครัวประมาณ 4-5 คน ซึ่งขนาดขั้นต่ำที่แนะนำคือ 4.60x4.90 เมตร หรือประมาณ 23 ตารางเมตร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการซ่อมแซมบ้านต่อไป