Abstract:
ศึกษาอิทธิพลของการประทับตราว่าด้อยค่าในการแสวงหาความช่วยเหลือ และเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา จากนักวิชาชีพที่มีต่อเจตจำนงต่อการแสวงหาความช่วยเหลือในกลุ่มนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี และศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศในการรับรู้ถึงการประทับตราว่าด้อยค่าในการแสวงหาความช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี จำนวน 1,191 คน (ชาย 592 คน และหญิง 599 คน) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้างและทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิจัยพบว่า การประทับตราว่าด้อยค่าทั้ง 3 รูปแบบสามารถทำนายเจตจำนงต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้ โดยมีเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพเป็นตัวแปรส่งผ่าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยการประทับตราว่าด้อยค่าจากตนเอง ส่งผลต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือมากที่สุด (β = -.54, p < .001) รองลงมาคืออิทธิพลรวมของการประทับตราว่าด้อยค่าจากสังคม (β = -.32, p < .001) การประทับตราว่าด้อยค่าจากบุคคลใกล้ชิดมีอิทธิพลรวมต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือต่ำที่สุด (β = -.17, p < .001) และเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือมีอิทธิพลต่อเจตจำนงต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ (β = -.23, p < .001) ตัวแปรทั้งหมดในสมการสามารถอธิบายความแปรปรวนของเจตจำนงต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้ 19.0% และการประทับตราว่าด้อยค่าทั้ง 3 รูปแบบสามารถอธิบายความแปรปรวนของเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้ 36.6% ทั้งนี้เพศไม่มีอิทธิพลกำกับต่อความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรในโมเดล