Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อศึกษาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกของแบรกเกตเซรามิกที่มีการออกแบบฐานที่มีลักษณะการยึดติดแบบพันธะเชิงกลแตกต่างกัน 3 ชนิด (แบรกเกตเซรามิกรุ่น Transcend series 6000, แบรกเกตเซรามิกรุ่น 20/40m และแบรกเกตเซรามิก รุ่น Crytaline) เทียบกับแบรกเกตเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีลักษณะของฐานแบรกเกตเป็นร่องในแนวนอนร่วมกับร่องรูปตัววี (Dyna-lock) และเพื่อเปรียบเทียบบริเวณที่เกิดความล้มเหลวในการยึดติดภายหลังการหลุดของแบรกเกตเซรามิกที่มีการออกแบบฐานแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 30 ชิ้น ทำการติดแบรกเกตบนฟันกรามน้อยที่ถอนจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันทั้งหมด 120 ซี่ ด้วยวัสดุยึด Concise ชิ้นงานตัวอย่างถูกฝังลงในท่อพีวีซีด้วยอะคริลิกเรซิน และเก็บในน้ำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทำการทดสอบค่ากำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกด้วยเครื่องทดสอบแรงทั่วไป (Instron universal testing machine) และทำการตรวจสอบบริเวณที่เกิดความล้มเหลวในการยึดติดภายหลังการหลุดของแบรกเกตด้วยกล้องจุลทรรศน์สามมิติ กำลังขยาย 30 เท่า วัดค่าการเหลืออยู่ของวัสดุยึดบนตัวฟันด้วยค่าดัชนีการเหลืออยู่ของวัสดุยึด (ARI) การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทิศทางเดียว (One way ANOVA) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ถ้าผลของการวิเคราะห์มีความแตกต่างกัน ทดสอบความแตกต่างของแต่ละคู่ด้วยการทดสอบเชฟเฟ่ (Scheffe's test) และการทดสอบความแตกต่างของบริเวณที่เกิดความล้มเหลวในการยึดติดใช้สถิติการทดสอบของครัสคาล-วอลลิส (Kruskal-Wallis's test) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกของแบรกเกตเซรามิกที่มีลักษณะการออกแบบฐานแตกต่างกัน โดยแบรกเกตเซรามิกรุ่น 20/40m ให้ค่ากำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกมากที่สุด รองลงมาคือ แบรกเกตเซรามิกรุ่น Crytaline และแบรกเกตเซรามิกรุ่น Transcend series 6000 ตามลำดับ โดยแบรกเกตเซรามิกทุกกลุ่มให้ค่ากำลังแรงยึดแบบเฉือน/ปอกที่เพียงพอสำหรับการใช้งานในคลินิก บริเวณที่เกิดความล้มเหลวในการยึดติดพบที่บริเวณระหว่างแบรกเกตและวัสดุยึดคิดเป็นร้อยละสูงสุดในแบรกเกตทุกกลุ่ม โดยไม่พบการแตกหักของผิวเคลือบฟันภายหลังการหลุดของแบรกเกต