Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของค่ามุมหรือระยะทางที่วัดจากส่วนของฐานกะโหลกศีรษะและใบหน้าส่วนบน และสามารถพยากรณ์ถึงค่ามุมระนาบของขากรรไกรล่าง (มุม S-N/Go-Gn) ในกลุ่มที่มีโครงสร้างใบหน้าเป็นคลาสวันโอเพนไบท์, คลาสทูโอเพนไบท์และคลาสทรีโอเพนไบท์ กลุ่มตัวอย่างมีโครงสร้างใบหน้าโอเพนไบท์ จำนวน 180 คน เป็นเพศชาย 90 คน และเพศหญิง 90 คน อายุ 15-25 ปี แบ่งตามโครงสร้างใบหน้าเป็น 3 กลุ่มคือ โครงสร้างใบหน้าคลาสวัน, โครงสร้างใบหน้าคลาสทูและโครงสร้างใบหน้าคลาสทรี กลุ่มละ 60 คน จากผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำภาพถ่ายรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างมาลอกรายละเอียดส่วนต่างๆ ของกะโหลกศีรษะและใบหน้าลงบนกระดาษอาซิเตทแล้วทำการวัดค่ามุมและระยะทางต่างๆ ที่ต้องการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเปียร์สันระหว่างค่ามุมที่แสดงลักษณะโครงสร้างโอเพนไบท์ คือ มุมของระนาบ S-N กับระนาบขากรรไกรล่าง (มุม S-N/Go-Gn) ที่มากกว่า 38 องศากับค่ามุมและระยทางที่วัดจากส่วนฐานกะโหลกศีรษะและใบหน้าส่วนบน จำนวน 9 ค่า แล้วนำค่าความสัมพันธ์ที่ได้มาหาสมการถดถอยพหุคูณเชิงเส้นตรงเพื่อประมาณค่ามุมของระนาบ S-N กับระนาบขากรรไกรล่างในโครงสร้างโอเพนไบท์ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ระหว่างค่ามุมและระยะทางในส่วนฐานกะโหลกศีรษะและใบหน้าส่วนบนกับโครงสร้างโอเพนไบท์ ในกลุ่มเพศชายคลาสวัน ได้แก่ มุม NSANS (r = 0.535) กลุ่มเพศหญิงคลาสวัน ได้แก่ มุม MCF (r = 0.589) กลุ่มเพศชายคลาสทู ได้แก่ มุม S-N/PP (r=0.388) และมุม NSANS (r = 0.395) กลุ่มเพศหญิงคลาสทู ได้แก่ ค่า RATIO 2(r = -0.52) กลุ่มเพศชายคลาสทรี ได้แก่ มุม S-N/PP (r = 0.444) มุม NSANS (r = 0.478) และค่า RATIO 2 (r = -0.46) แต่ในเพศหญิงคลาสทรีไม่พบค่ามุมหรือระยะทางที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างโอเพนไบท์