Abstract:
มีวัตถุประสงค์เพื่อจะรวบรวมคำที่มีรากศัพท์เป็นคำเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะการยืม เปรียบเทียบเสียงและความหมายของคำยืมเหล่านี้กับคำเขมรปัจจุบันและเขมรโบราณ เปรียบเทียบลักษณะการยืมคำเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้กับการยืมคำเขมรในภาษาไทยมาตรฐาน และเพื่อสันนิษฐานสมัยและวิธีการยืมคำเขมรเข้ามาในภาษาไทยถิ่นใต้ ผลการวิจัยพบว่า มีคำยืมเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ จำนวน 1,320 คำ ในจำนวนนี้มีอยู่ 573 คำ ที่ตรงกับคำยืมเขมรในภาษาไทยมาตรฐาน และมีอยู่ 394 คำ ที่เป็นคำยืมเขมรที่ปรากฎเฉพาะในภาษาไทยถิ่นใต้ เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเสียงในคำยืมเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ กับเสียงในคำเขมรปัจจุบัน พบว่า มีลักษณะเสียงสัมพันธ์ 10 แบบ ภาษาไทยถิ่นใต้ยืมคำเขมรส่วนใหญ่มาโดยมีการลดเสียงบางเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงพยัญชนะต้น แต่ภาษาไทยมาตรฐานยืมคำเขมรส่วนใหญ่มาทั้งคำ และเมื่อเปรียบเทียบเสียงของคำยืมกับคำเขมรปัจจุบันและคำเขมรโบราณพบว่า เสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และเสียงพยัญชนะท้ายของคำยืม อาจสัมพันธ์กับเสียงในภาษาเขมรได้หลายเสียง ซึ่งปรากฎว่าเสียงเหล่านี้คล้ายคลึงกับเสียงในคำสัมพันธ์ในภาษาเขมรโบราณมากกว่าในคำสัมพันธ์ในภาษาเขมรปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงอาจนำเสียงบางเสียงในคำยืมเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ มาเป็นเกณฑ์ในการสันนิษฐานสมัยของการยืมคำเขมรบางคำได้ โดยพบว่ามีคำยืมเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ที่สันนิฐานว่า ได้ยืมเข้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ 306 คำ มีคำยืมเขมรในภาษาไทยถิ่นใต้ที่สันนิษฐานว่า ได้ยืมเข้ามาจากภาษาเขมรปัจจุบัน 81 คำ ส่วนคำยืมเขมรที่เหลือซึ่งเป็นคำส่วนใหญ่นั้น ไม่อาจใช้เกณฑ์ทางเสียงมาสันนิษฐานสมัยการยืมได้ ส่วนในด้านความหมาย พบว่าทั้งคำยืม คำเขมรโบราณ และคำเขมรปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีความหมายเหมือนกัน มีเพียงส่วนน้อยที่แสดงให้เห็นความต่างทางความหมาย ซึ่งแตกต่างกันอยู่ 5 แบบ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของวิธีการยืมปรากฎว่า คำยืมเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าได้ยืมเข้ามาโดยรับเสียงพูดที่ได้ยิน ส่วนที่เหลืออีก 57 คำ มีแนวโน้มว่าได้รับเข้ามาทางตัวเขียน