Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้แบบฝึกความคิดนอกกรอบและการให้รางวัลต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 ในกรุงเทพมหานคร โดยใช้รูปแบบการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชน ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 30 คน เป็นนักเรียนชายจำนวน 15 คน และนักเรียนหญิงจำนวน 15 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน โดยแต่ละกลุ่มมีนักเรียนชายจำนวน 5 คน และนักเรียนหญิงจำนวน 5 คน โดยที่กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ได้รับการฝึกความคิดนอกกรอบและให้รางวัล กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ฝึกความคิดนอกกรอบอย่างเดียว และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุม ไม่มีการฝึกความคิดนอกกรอบและให้รางวัล จากนั้นผู้วิจัยได้ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนทั้งสามกลุ่ม ก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของทอแรนซ์ แบบรูปภาพ A และแบบรูปภาพ B เทคนิคการฝึกความคิดนอกกรอบที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้พัฒนามาจากแนวคิดของ เดอโบโน ประกอบด้วย 3 เทคนิค คือ เทคนิคการตั้งคำถามทำไม เทคนิคการมองในมุมที่กลับกัน และเทคนิคการระดมสมอง โดยใช้เทคนิคเหล่านี้ ในการฝึกความคิดนอกกรอบ
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการฝึกความคิดนอกกรอบและให้รางวัล มีผลต่างของคะแนนความคิดสร้างสรรค์ก่อนและหลังการฝึกสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการฝึกความคิดนอกกรอบอย่างเดียวอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผลต่างของคะแนนความคิดสร้างสรรค์ก่อนและหลังการฝึกของกลุ่มที่ได้รับการฝึกความคิดนอกกรอบอย่างเดียว ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แสดงว่าการฝึกความคิดนอกกรอบและให้รางวัลสามารถเพิ่มคะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าการฝึกความคิดนอกกรอบอย่างเดียว และมากกว่าการไม่มีการฝึกความคิดนอกกรอบ