Abstract:
เพื่อศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฮโดรเจนของประเทศไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ในประเทศไทย โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ และการวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยศึกษาเฉพาะพลังงานไฮโดรเจนกับน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ในกรณีประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งโครงการจะเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2588 ที่มีการศึกษาว่าเป็นปีที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก ถ้ามีการใช้ดังเช่นปัจจุบัน ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยนี้ นำมาจากหน่วยงานในประเทศไทย และสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง และพลังงานไฮโดรเจน มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานาน มาปรับให้เข้ากับข้อมูลของประเทศไทย เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนรถยนต์ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ และปริมาณมลพิษทางอากาศ เป็นต้น เพื่อให้การวิเคราะห์ในงานวิจัยมีความหลากหลายและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จึงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกออกเป็น 4 กรณี ได้แก่ การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกของผู้วิจัย การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกของ EIA กรณีราคาน้ำมันดิบโลกอ้างอิง สูง และต่ำ ผลการวิเคราะห์ทางการเงิน พบว่า ไม่มีกรณีใดเหมาะสมในการลงทุน โดยกรณีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกของ EIA จะติดลบมากกว่ากรณีของผู้วิจัย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกของ EIA ต่ำกว่าผู้วิจัยมาก จากการเชื่อว่าน้ำมันดิบโลกจะไม่หมดไปจากโลกในระยะเวลา 40 ปี ตามที่ผู้วิจัยคาดการณ์เอาไว้ แต่เมื่อวิเคราะห์ความอ่อนไหวเพิ่มเติม 5 กรณี โดยการเปลี่ยนแปลงจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่และต้นทุนคงที่ของสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พบว่า กรณีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกของผู้วิจัย ที่ต้นทุนคงที่ของสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนลดลง 50% จะมีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากต้นทุนของก๊าซไฮโดรเจนมีค่าน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้ในการใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะยาว ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ในระดับประเทศ พบว่า กรณีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกของผู้วิจัยเหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากผลประโยชน์ของมูลค่ามลพิษทางอากาศที่ลดลง ส่วนในระดับโลกที่รวมผลกระทบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามา พบว่า ไม่มีกรณีใดเหมาะสมในการลงทุน ซึ่งสาเหตุมาจากต้นทุนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหินลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้ามีค่าสูงมาก ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยที่จะทำให้โครงการคุ้มทุนในการวิเคราะห์ทางการเงิน ทางเศรษฐศาสตร์ในระดับประเทศ และระดับโลก คือ 407.38 375.39 และ 997.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ