Abstract:
ศึกษาการทำศัลยกรรมทดแทนกระเพาะปัสสาวะบางส่วนด้วยเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิส ของตัวเองในสุนัขทดลองเพศผู้จำนวน 12 ตัว สุนัขทุกตัวได้รับการทำศัลยกรรมตัดลูกอัณฑะเพื่อเตรียมแผ่นเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสลักษณะวงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร และได้รับการทำศัลยกรรมทดแทนด้วยเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสที่เตรียมไว้บริเวณปลายกระพุ้งกระเพาะปัสสาวะที่ตัดออกขนาดเท่ากัน ประเมินผลโดยศึกษาการเจริญของเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะบนเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสทางมหภาควิทยาและจุลพยาธิวิทยา และวัดขนาดของแผ่นเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสในสุนัข 2 ตัว ที่ 2, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ และ 4 ตัว ที่ 10 สัปดาห์ภายหลังศัลยกรรม เปรียบเทียบความดันภายในกระเพาะปัสสาวะ และความยืดหยุ่นของผนังกระเพาะปัสสาวะด้วยการอัดสารน้ำ Lactated Ringer’s ที่ปริมาตร 10, 20, 30, 40 และ 50 มิลลิลิตร ก่อนและหลังศัลยกรรมที่ 2 (12 ตัว), 4 (10 ตัว), 6 (8 ตัว), 8 (6 ตัว) และ 10 สัปดาห์ (4 ตัว) วิเคราะห์ค่าโลหิตวิทยา และเคมีในเลือด หลังศัลยกรรมที่ 1, 2 และ 4 สัปดาห์ และตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะหลังศัลยกรรมที่ 4 วัน 1, 2 และ 4 สัปดาห์ ผลการประเมินพบว่า เยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสทำหน้าที่เป็นโครงสำหรับการเจริญของเซลล์เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะได้อย่างสมบูรณ์ในสัปดาห์ที่ 6 มีการเจริญของชั้นใต้เยื่อเมือก ชั้นกล้ามเนื้อ และชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน พบการสร้างกระดูกบริเวณผนังกระเพาะปัสสาวะส่วนทดแทน และความยืดหยุ่นของผนังกระเพาะปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ที่ปริมาตร 30 และ 40 มิลลิลิตรที่ 2 สัปดาห์ และที่ปริมาตร 30 มิลลิลิตรที่ 6 สัปดาห์ ส่งผลให้ความดันภายในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) พื้นที่ของเยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสที่ 2, 4, 6, 8 และ 10 สัปดาห์ ลดลงเหลือ 32.58, 11.12, 12.28, 16.01 และ 13.40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อาการแทรกซ้อนที่พบคือ โลหิตจาง การอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อแบคทีเรีย และการสร้างกระดูกบริเวณผนังกระเพาะปัสสาวะส่วนทดแทน ผลการศึกษานี้แสดงว่า เยื่อทูนิกาวาจัยนัลลิสสามารถทำหน้าที่เป็นโครงให้มีการเจริญของเนื้อเยื่อทดแทนผนังกระเพาะปัสสาวะได้ การสร้างกระดูกบริเวณผนังกระเพาะปัสสาวะที่งอกเจริญใหม่อาจเนื่องจากเนื้อเยื่อที่ใช้ในการศึกษานี้ เป็นเนื้อเยื่อสดที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ถูกย่อยสลายและถูกดูดซึมในเวลาที่เหมาะสม