Abstract:
ปัจจัยหลักที่สำคัญในงานทันตกรรมเพื่อความสวยงามคือ การเลือกขนาดและสัดส่วนของฟันหน้าบน ให้มีความเหมาะสมกับใบหน้าของผู้ป่วยเมื่อมีการบูรณะที่บริเวณดังกล่าว วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือ การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการคำนวณขนาดและสัดส่วนของฟันหน้าบน และเพื่อศึกษาความพอใจของทันตแพทย์ไทยต่อความสวยงามของสัดส่วนทางมานุษยวิทยาที่แตกต่างกันของฟันหน้าบน โดยใช้ภาพจำลอง 6 ภาพ ที่ได้รับการคำนวณและตกแต่งจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้ขนาดความกว้างของฟันตัดกลางหน้าบนมีค่าเป็นร้อยละ 24 ของระยะระหว่างปุ่มฟันเขี้ยวทั้งสอง หรือมีค่าเป็น 1 ใน 6.6 ส่วนของระยะทางระหว่างจุดกึ่งกลางรูม่านตาดำทั้งสอง เมื่อได้ค่าขนาดความกว้างของฟันตัดกลางหน้าบนทั้งสองเป็นค่าเริ่มต้นแล้ว นำไปคำนวณขนาดความกว้างของฟันตัดข้างหน้าบนและฟันเขี้ยวบนจากการใช้สัดส่วนระหว่างความกว้างของฟันต่อฟันซี่ถัดไป ที่ร้อยละ 62, 70 และ 80 ซึ่งลำดับของภาพจำลองจะมีการสุ่มในแบบสอบถาม ทันตแพทย์ผู้ดูให้คะแนนความพอใจโดย ใช้สเกลคะแนนแบบเส้นตรง เมื่อคะแนน ที่ 0 แสดงถึง พอใจน้อยที่สุด และคะแนนที่ 100 แสดงถึง พอใจมากที่สุด วิเคราะห์ผลการทดลองด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา
พบว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถคำนวณขนาดและสัดส่วนของฟันหน้าบนที่มาจากจุดอ้างอิงบนใบหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ภาพจำลองที่มีขนาดความกว้างของฟันตัดกลางหน้าบนที่มีค่าเป็นร้อยละ 24 ของระยะระหว่างปุ่มฟันเขี้ยวทั้งสอง และขนาดความกว้างของฟันต่อฟันซี่ถัดไปที่สัดส่วนร้อยละ 80 ได้รับคะแนนความพอใจจากทันตแพทย์สูงสุด ขนาดและสัดส่วนที่แตกต่างกันของฟันหน้าบนและเพศของทันตแพทย์ที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อคะแนนความพอใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ระดับการศึกษา สาขาวิชา และ ประสบการณ์ในการทำงานด้านทันตกรรมไม่มีผลต่อคะแนนความพอใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางเบื้องต้นในการวางแผนการรักษาทางทันตกรรมเพื่อความสวยงาม เพื่อช่วยตัดสินใจในการเลือกขนาด และสัดส่วนสำหรับการบูรณะฟันหน้าบนของผู้ป่วย รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการตกแต่งภาพจำลองฟัน