Abstract:
คำเรียกเสียงหมายถึงคำที่ใช้ระบุเสียงที่ได้ยิน เป็นคำที่บ่งบอกคุณสมบัติของเสียง ซึ่งเป็นการรับรู้พื้นฐานของมนุษย์ ในอดีตงานวิจัยที่เกี่ยวกับเสียงมีเป็นจำนวนมากในหลายสาขา แต่ยังไม่มีงานวิจัยด้านคำในฐานะเป็นตัวแทนมโนทัศน์ที่เป็นประเภทของเสียง วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คำเรียกเสียงในภาษาไทยตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดยวิเคราะห์ความหมายของคำเรียกเสียงพื้นฐานด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบ วิเคราะห์กลวิธีการสร้างคำเรียกเสียงไม่พื้นฐาน และวิเคราะห์คำแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเสียงและความสัมพันธ์ของคำแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเสียงกับคำเรียกเสียงพื้นฐานในภาษาไทย ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากนวนิยาย 10 เล่ม และจากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาชาวไทยที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน โดยนำรายการสรรพสิ่ง ปรากฏการณ์และสถานการณ์ จำนวน 110 รายการ ไปตั้งเป็นคำถามถามผู้บอกภาษา ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า คำเรียกเสียงพื้นฐานในภาษาไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 10 คำ ได้แก่ คำว่า ดัง กังวาน ก้อง ค่อยและเบา แหลม เล็ก ทุ้ม ใหญ่ และ แหบ ซึ่งแทนประเภทเสียงพื้นฐาน 9 ประเภท จากการศึกษาความหมายของคำเรียกเสียงพื้นฐานโดยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบพบว่า คำเหล่านี้แตกต่างกันด้วยมิติแห่งความแตกต่างจำนวน 8 มิติ ได้แก่ ความชัดเจนของการได้ยิน การกินพื้นที่ การกินเวลา ความคงที่ของการได้ยิน ระดับเสียง ความเสียดแทง ความนุ่มนวล และความต่อเนื่องของเสียง เมื่อวิเคราะห์กลวิธีในการสร้างคำเรียกเสียงไม่พื้นฐานพบว่า มีทั้งสิ้น 5 กลวิธีหลัก ได้แก่ 1) กลวิธีการใช้ศัพท์เดี่ยว เช่น กระหึ่ม อื้ออึง 2) กลวิธีการผสมคำเรียกเสียงเข้าด้วยกัน เช่น ก้องกังวาน เล็กแหลม 3) กลวิธีการซ้ำคำเรียกเสียง เช่น เบาๆ แล้ม-แหลม 4) กลวิธีการผสมคำเรียกเสียงกับคำขยาย เช่น ทุ้มลึก แหลมบาดหู และ 5) กลวิธีการใช้คำว่า ออก เช่น ออกแหลม ออกห้าว ผลการวิเคราะห์คำแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเสียง พบคำแสดงทัศนคติทางบวกต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น “ไพเราะ” “ใส” คำแสดงทัศนคติทางลบต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น “บาดหู” “แสบแก้วหู” และคำแสดงทัศนคติเป็นกลาง เช่น คำว่า “เฉยๆ” “ธรรมดา” และ “ฟังได้” งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า คำเรียกเสียงสะท้อนให้เห็นการรับรู้และการจำแนกประเภทเสียงที่ได้ยินของคนไทย ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่าคำเป็นตัวสะท้อนมโนทัศน์และระบบความคิดของผู้พูด