Abstract:
การศึกษาผลการระงับปวดของทรามาดอลต่อระดับความร้อนที่ทำให้แมวเริ่มมีการตอบสนองในแมว 8 ตัว โดยใช้อุปกรณ์วัดระดับความร้อน ซึ่งประกอบด้วยแถบซิลิโคนให้ความร้อนและตัววัดอุณหภูมิติดแนบผิวหนังบริเวณช่องอก แมวทั้ง 8 ตัว ได้รับยาที่ใช้ศึกษาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แบบสุ่ม คือ ทรามาดอล ขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มอร์ฟีนขนาด 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ น้ำเกลือปริมาณ 0.04 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม (กลุ่มควบคุม) โดยมีระยะพักระหว่างยาแต่ละชนิดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และผู้ทำการทดลองจะไม่ทราบชนิดของยาที่แมวได้รับ การกระตุ้นเริ่มด้วยความร้อนที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งแมวแสดงอาการตอบสนอง ได้แก่ ผิวหนังกระตุก, หันไปมองที่เครื่องมือ และกระโดดไปข้างหน้า จึงหยุดการกระตุ้น และ บันทึกอุณหภูมิ ณ จุดที่แมวแสดงอาการตอบสนอง และถือเป็นระดับความร้อนที่ทำให้แมวเริ่มมีการตอบสนอง โดยวัดค่าปกติของแมวแต่ละตัวก่อนได้รับยา ทำซ้ำกัน 3 ครั้ง ห่างกัน 15 นาที และกระตุ้นภายหลังที่แมวได้รับยาเป็นเวลา 15, 30, 45, 60, 90, 120, 150, 180, 210, 240, 270, 300, 330, 360, 480 และ 720 นาที ตามลำดับ ขณะทำการทดลองแมวสามารถทนต่อการกระตุ้นด้วยความร้อนซ้ำๆได้ตลอดการทดลอง และแมวแสดงพฤติกรรมเป็นปกติระหว่างทำการทดลอง แมวสามารถ กินอาหาร กินน้ำ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เล่น เลียทำความสะอาดตัวเอง และตอบสนองต่อการสัมผัสของมนุษย์ได้ตามปกติ โดยค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของระดับความร้อนที่ทำให้แมวเริ่มมีการตอบสนองตลอด 12 ชั่วโมงมีค่า 42.2 ± 0.9⁰ซ ก่อนให้ยา, 42.0 ± 0.5⁰ซ ในกลุ่มควบคุม, 43.2 ± 0.9⁰ซ ในกลุ่มมอร์ฟีน และ 44.2 ± 1.6⁰ซ ในกลุ่มทรามาดอล ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ของค่าเฉลี่ยของระดับความร้อนที่ทำให้แมวเริ่มมีการตอบสนองตลอด 12 ชั่วโมงระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม และค่าเฉลี่ยของระดับความร้อนที่ทำให้แมวเริ่มมีการตอบสนองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับก่อนให้ยา (p<0.05) ระหว่างเวลา 15 - 270 นาที และ 330 - 360 นาที ภายหลังฉีดมอร์ฟีน และระหว่างเวลา 45 - 90 นาที,180 - 210 นาที และ 270 - 300 นาที ภายหลังฉีดทรามาดอล จากการศึกษาครั้งนี้สรุปว่า ทรามาดอลมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับมอร์ฟีนในการระงับปวดที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยความร้อนในแมว