Abstract:
ที่มาและเหตุผล: ในการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis patients) หลอดนำเลือด (vascular access) ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นทางนำเลือดออกจากตัวผู้ป่วย ผ่านเครื่องฟอกเลือดกำจัดของเสีย และนำเลือดกลับสู่ผู้ป่วย หากมีความบกพร่องของหลอดนำเลือด กระบวนการฟอกเลือดไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ข้อแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย hemodialysis ที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะตีบและเกิดลิ่มเลือดในหลอดนำเลือด (vascular access stenosis and thrombosis) มีวิธีการตรวจและติดตามการทำงานของ vascular access หลายวิธี ได้แก่ การตรวจร่างกาย การวัด venous dialysis pressure การวัด recirculation การตรวจ doppler ultrasound การตรวจ ultrasound dilution technique และ angiogram การวิจัยนี้เป็นรายงานแรกในประเทศไทยในการใช้ ultrasound dilution technique ซึ่งปัจจุบันถือเป็น gold standard ในการตรวจและติดตามการทำงานของ vascular access วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความเร็วเลือดเฉลี่ยผ่านหลอดนำเลือด (vascular access blood flow, Qac) และหาค่า Qac ที่สามารถทำนายการเกิดภาวะ vascular access thrombosis วิธีการศึกษา: ผู้ป่วย hemodialysis 64 คน ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็น vascular access ชนิด arteriovenous fistula (AVF) 51 คน, arteriovenous PTFE graft 13 คน ตรวจ vascular access ด้วย ultrasound dilution technique (Transonic RHD 01 system, Inc., Ithaca, NY, USA) ทุก 3 เดือน เป็นเวลา 6 เดือน บันทึก Qac และอุบัติการณ์การเกิด vascular access thrombosis ผลการศึกษา: Qac ใน AVF คือ 737.90+-666.66 (mean+-SE) มิลลิลิตร/นาที, PTFE graft คือ 768.38+-133.19 มิลลิลิตร/นาที ผู้ป่วย AVF 9 คน เกิด thrombosis ในช่วงเวลา 5 เดือน โดยกลุ่มที่เกิด thrombosis มี Qac ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เกิด thrombosis อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (317.22+-55.42 VS 805.46+-76.42 มิลลิลิตร/นาที, p=0.001) ค่า Qac ที่สามารถทำนายการเกิด thrombosis ในเวลา 5 เดือน คือ 445 มิลลิลิตร/นาที (p=0.05) ปัจจัยที่มีผลต่อ Qac คือ อายุ, ความสูง, body surface area และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยที่โรคเบาหวานไม่มีผลต่อ Qac สรุปผลการศึกษา: 1. ultrasound dilution technique เป็นวิธีที่สะดวก, ง่าย และแม่นยำในการตรวจ Qac 2. ผู้ป่วยกลุ่มที่เกิด thrombosis มี Qac ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เกิด thrombosis โดยมีค่า Qac ที่สามารถทำนายการเกิด thrombosis ในเวลา 5 เดือน คือ 445 มิลลิลิตร/นาที 3. ผู้ป่วย hemodialysis ในประเทศไทยสามารถทำ high flux dialysis ซึ่งต้องอาศัย Qac มากกว่า 400 มิลลิลิตร/นาที 4. ผู้ป่วย hemodialysis ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถสร้างหลอดนำเลือดชนิด AVF ได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะ thrombosis เมื่อเทียบกับผู้ป่วย hemodialysis ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน