Abstract:
พื้นที่สวนหลวงบริเวณบรรทัดทองจัดเป็นเขตจัดการผลประโยชน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อที่ประมาณ 276 ไร่ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและยกระดับพื้นที่บริเวณสวนหลวงนี้ขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นโครงการอาคารพาณิชย์และพักอาศัยขนาดใหญ่ และตามแผนแม่บทฯได้กำหนดให้สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและสถานีตำรวจดับเพลิงบรรทัดทองต้องโยกย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ภายในพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานภาพและลักษณะการพักอาศัยปัจจุบันของข้าราชการตำรวจและครอบครัว แนวทางและความเหมาะสมในการจัดการที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจเมื่อมีการโยกย้ายตามแผนแม่บทฯ จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีข้าราชการตำรวจและครอบครัวพักอาศัยในอาคารแฟลตของสถานีตำรวจทั้งสองแห่งจำนวน 217 หน่วย ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 31-40 ปี มีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนต่างจังหวัด และมีสมาชิกในครอบครัวประมาณ 4-6 คน ลักษณะที่พักอาศัยเป็นอาคารแฟลตสูง 4 ชั้น และ 5 ชั้น ห้องพักมี 2 แบบคือ ห้องพักตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีขนาด 60-80 ตารางเมตร และห้องพักตำรวจชั้นประทวนมีขนาด 40-60 ตารางเมตร สภาพอาคารปัจจุบันมีความเก่าแก่และทรุดโทรม เนื่องจากขาดการบำรุงดูแลรักษาและมีการดัดแปลงต่อเติมห้องพักเพื่ออำนวยความสะดวกในการพักอาศัย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จากการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่เข้มงวดและเอาใจใส่ในการดูแลรักษากฎระเบียบ การศึกษาครั้งนี้สรุปว่า ที่ตั้งของสถานีตำรวจนครบาลและดับเพลิงสามารถตั้งแยกจากกันและควรแยกส่วนที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจออกจากส่วนที่ทำการสถานี เพื่อเป็นการลดปัญหาจากการพักอาศัยและเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีของผู้พักอาศัยในอาคาร การศึกษาครั้งนี้ได้เสนอแนวทางการจัดจำนวนที่พักอาศัยของสถานีตำรวจทั้งสองแห่งไดว้ 3 แนวทางดังนี้คือ 1) จัดตามเกณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร้อยละ 70 ของอัตรากำลังพล 2) จัดตามจำนวนห้องพักเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน (228 หน่วย) 3) จัดเท่ากับจำนวนอัตรากำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานี