Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือเพื่อศึกษาการใช้งานและรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับ เคสทูลที่สนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุในประเทศไทย นำเสนอหลักการและวิธีการที่ใช้ในการเปรียบเทียบเคสทูล และนำเสนอคุณสมบัติของเคสทูลสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุในประเทศไทย งานวิจัยนี้ได้สำรวจการใช้งานและความสำคัญของคุณสมบัติของเคสทูล เปรียบเทียบ เคสทูล นำเสนอคุณสมบัติของเคสทูล และสำรวจความเห็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับคุณสมบัติของเคสทูลที่นำเสนอ สำหรับการเปรียบเทียบเคสทูลได้เปรียบเทียบ เรชั่นนัลโรส (Rational Rose) และพาวเวอร์ดีไซน์เนอร์ (PowerDesigner) จากนั้นในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอคุณสมบัติของเคสทูลสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุและได้สร้างต้นแบบของเคสทูลที่นำเสนอพร้อมทั้งสำรวจความคิดเห็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่มีต่อคุณสมบัติของเคสทูลที่นำเสนอ ผลการวิจัยพบว่าองค์กรที่รับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มีการใช้งานเคสทูล แต่มีการใช้งานในระดับพื้นฐาน เคสทูลทั้งสองที่เปรียบเทียบต่างรองรับการพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุโดยมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน งานวิจัยนี้ได้นำเสนอคุณสมบัติของเคสทูลรวม 43 คุณสมบัติและผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่มีต่อคุณสมบัติของเคสทูลที่นำเสนอพบว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์มีความพึงพอใจเคสทูลที่นำเสนอมากกว่าเคสทูลทั้งสองคือเรชั่นนัลโรสและพาวเวอร์ดีไซน์เนอร์