Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยในเด็กอายุ 4 - 6 ปี 2. ศึกษาพัฒนาการของความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยในเด็กไทย 3. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ในเด็กอายุ 4 - 6 ปี 4. เพื่อศึกษาพัฒนาการของความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ในเด็กไทย 5. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยกับความสามารถใน การเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ในเด็กอายุ 4 – 6 ปี กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 3 ระดับอายุ คือ 4 ปี, 5 ปี และ 6 ปี ระดับอายุละ 60 คน เป็นเด็กชาย 30 คน และเด็กหญิง 30 คน รวมทั้งสิ้น 180 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ แบบทดสอบความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมย โดยดัดแปลงมาจากการศึกษาของ Rattermann & Gentner (1988) และแบบทดสอบความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA), Logistic Regression และ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) ผลการวิจัยพบว่า 1. คะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยของเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับอายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าเด็กอายุ 5 ปี และ 6 ปี มีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยสูงกว่าเด็กอายุ 4 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่เด็กอายุ 5 ปีและ 6 ปี มีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมยไม่แตกต่างกัน 2. เด็กไทยมีพัฒนาการในด้านความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมย เมื่อมีอายุประมาณ 6 ปี 3. คะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ของเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับอายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าเด็กอายุ 5 ปี และ 6 ปี มีความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์สูงกว่าเด็กอายุ 4 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่เด็กอายุ 5 ปีและ 6 ปี มีความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ไม่แตกต่างกัน 4. เด็กไทยมีพัฒนาการในด้านความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ เมื่อมีอายุประมาณ 5 ½ ปี 5. ความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมย กับความสามารถในการเข้าใจความคล้ายคลึงด้านความสัมพันธ์ในเด็กอายุ 4 – 6 ปี มีความสัมพันธ์กันในทางบวก (r=.322) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01