Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาให้ทราบถึง สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง เครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ และกำลังอำนาจทางทะเลของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย เพื่อวิเคราะห์หาผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศเปรียบเทียบกับการใช้กำลังอำนาจทางทะเลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อต้านภัยคุกคามความมั่นคงในช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การตอบคำถามวิจัยว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการใช้เครื่องมืออื่นมากกว่ากำลังอำนาจทางทะเลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อต่อต้านภัยคุกคามความมั่นคงระหว่างช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย การศึกษาวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาสภาพปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่ ปีที่รัฐบาลของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และผ่านไปจนถึงปีที่รัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับหน้าที่เป็นปีแรก เนื่องจากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามซึ่งได้เข้ายึดครองกัมพูชาใน ค.ศ. 1979 และมีทหารประจำการอยู่ในกัมพูชามากถึง 160,000 คน ทหารเหล่านั้นบางส่วนได้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยเพื่อปรามปรามกองกำลังเขมรฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง ทำให้ผู้นำของไทยกังวลว่าเวียดนามจะรุกรานประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ผลการศึกษาวิจัยแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ซึ่งเก็บและรวบรวมข้อมูลจาก ตำรา เอกสารทางวิชาการ และการสัมภาษณ์ผู้เคยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่าสาเหตุของการให้ความสำคัญต่อการใช้เครื่องมืออื่นๆมากกว่ากำลังอำนาจทางทะเลประกอบด้วย ความเร่งด่วนของภัยคุกคามที่ประเทศไทยต้องรีบดำเนินการตอบโต้และป้องกันมาจากกำลังทางบกของเวียดนาม ซึ่งเครื่องมือที่มีความเหมาะสมในการใช้มากที่สุดก็คือกำลังทางบกและกำลังทางอากาศ อีกทั้งเครื่องมือทางการทูตก็เป็นเครื่องมือที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องมือใดๆ นอกจากนี้การพัฒนากำลังอำนาจทะเลของประเทศไทยก็ยังขาดความต่อเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างเหล่าทัพ การพึ่งพิงความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯมากเกินไป และการขาดเทคโนโลยีทางเรือที่ทันสมัย