Abstract:
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือการศึกษารูปแบบและพัฒนาการของการควบคุมแรงงานโดยฝ่ายทุนในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายทุนหมายถึงเจ้าของทุนหรือฝ่ายจัดการ โดยทำการศึกษาในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา เนื่องจากในปีดังกล่าวเป็นปีแรกที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2503 ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนไปก่อนแล้ว ดังนั้นจึงถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่นำโดยภาคเอกชน โดยที่การควบคุมแรงงานที่ใช้ในการศึกษานี้หมายความถึงความพยามยามของนายจ้างที่จะเปลี่ยนพลังแรงงานที่ซื้อจากคนงานให้กลายเป็นกิจกรรมแรงงานหรือการลงมือทำงานจริง ภายใต้ตรรกะของระบบทุนนิยมที่ต้องการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากคนงานในกระบวนการผลิตสินค้า การควบคุมแรงงานในช่วงแรกคือในระหว่างปี พ.ศ.2504 - พ.ศ.2520 มีลักษณะของการใช้อำนาจสั่งการ การบีบบังคับ และการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทั้งทางด้านนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลรวมถึงลักษณะอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการควบคุมแรงงานในช่วงหลังจากปี พ.ศ.2520 เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในตัวปัจจัยดังกล่าวข้างต้น การควบคุมแรงงานในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2520 บางส่วนยังคงมีลักษณะของการใช้อำนาจสั่งการ การบีบบังคับ และการใช้ความรุนแรงเหมือนเช่นในช่วงก่อนหน้า แต่ก็ได้ปรากฎลักษณะของการพยายามสร้างความร่วมมือจากคนงานและการสร้างแรงกระตุ้นให้กับคนงาน โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่