Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีประเด็นการศึกษา คือ เพราะปัจจัยใดผู้นำพลเรือนจึงสามารถเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของไทย โดยเฉพาะในกรณีการยกเล4ิกการจัดซื้อเครื่องบินรบเอฟ-18 ของกองทัพอากาศไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1997-2000 ซึ่งแต่เดิมทหารมักจะมีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายความมั่นคง แต่กรณีดังกล่าวพลเรือนกลับมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นและทหารกลับมีบทบาทลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงดังกล่าวด้วย การศึกษานี้ใช้กรอบแนวคิด 3 แนวทาง คือ 1) กรอบแนวคิดการตัดสินใจกำหนดนโยบาย อันแสดงให้เห็นถึงเหตุที่บุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการกำหนดนโยบายในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมต่อปัญหาและสถานการณ์นั้นๆ 2) กรอบแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร เป็นการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหารในขอบเขตที่เหมาะสมของแต่ละฝ่าย และ 3) กรอบแนวคิดการช่วยเหลือต่างประเทศในเชิงการเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงนัยของการให้ความช่วยเหลือของประเทศผู้ให้และความต้องการของประเทศผู้รับ การศึกษา พบว่า ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยแนวคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ทาง การเมืองของผู้นำพลเรือนในการปฏิรูปงานด้านความมั่นคงเพื่อทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพโดยเพิ่มบทบาทพลเรือนในการควบคุมกองทัพ และปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาความเป็นทหารอาชีพของผู้นำทางทหารในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กับ ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ การพึ่งพาการให้ความช่วยเหลือความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐอเมริกาในไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และปัจจัยเสริมจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคงในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นปัจจัยกำหนดมาประกอบกันสำหรับการมีบทบาทของผู้นำพลเรือนในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของไทยในกรณีการแก้ไขปัญหาการส่งคืนเครื่องบินรบแบบเอฟ-18 ของกองทัพอากาศไทยให้ประเทศสหรัฐอเมริกา อันนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาให้มีความใกล้ชิดมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990