Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการจัดตั้งหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership in East Asia: CEPEA) และผลกระทบของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเปรียบเทียบปัจจัยและผลกระทบดังกล่าวระหว่างการทำข้อตกลงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกับการทำข้อตกลงกับประเทศนอกภูมิภาค นอกจากนั้นยังศึกษาผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีต่อรายได้ประชาชาติและเปรียบเทียบกับผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ค้ากับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค โดยทุกขั้นตอนการประเมินจะเป็นการควบคุมปัญหา Endogeneity แล้วทั้งสิ้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ระยะห่างระหว่างประเทศ ระยะห่างจากประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ขนาดและความแตกต่างของรายได้ประชาชาติ และปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ ระยะห่างจากประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ และความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิต ซึ่งทิศทางอิทธิพลของปัจจัยส่วนใหญ่สอดคล้องกับสมมติฐาน ผลการศึกษาผลกระทบของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบของการค้าภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อรายได้ประชาชาติ หากไม่ควบคุมปัญหา Endogeneity แล้วพบว่าขนาดอิทธิพลน้อยกว่าความเป็นจริงประมาณ 1.3 และ 2 เท่า ตามลำดับ สำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาคของเอเชียตะวันออกกลับไม่ส่งผลต่อปริมาณการค้าของภูมิภาคนี้ แต่การค้ากับประเทศนอกภูมิภาคช่วยเพิ่มรายได้ประชาชาติมากกว่าการค้าภายในภูมิภาค จากการวิเคราะห์ปัจจัยและผลกระทบของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียตะวันออก กล่าวได้ว่าภูมิภาคนี้มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรี เนื่องจากมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการได้รับผลได้ทางสวัสดิการสุทธิจากการทำข้อตกลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและรายได้ประชาชาติของภูมิภาค หากการรวมกลุ่มทางการค้าระดับภูมิภาคสำเร็จ ภูมิภาคนี้จะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต