Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีสมมติฐานว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศมีนัยยะต่อ การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสำคัญ โดยเลือกกรณีศึกษาการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน หรือ ASEAN-China Free Trade Agreement ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (International Political Economy) มาวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่าการค้าเสรีสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และเครื่องมือทาง การเมือง ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความตกลงเขตการค้าเสรีสะท้อนให้เห็นว่าองค์การการค้าโลกถือเป็นชัยชนะของความเชื่อฝั่งเสรีนิยม แต่ประสบภาวะชะงักงันจากแนวคิดการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการปกป้องทางเศรษฐกิจ ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนไม่เพียงแต่เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์และความสำคัญของแต่ละฝ่ายในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่ยังได้รับอิทธิพลจากการเมืองระหว่างประเทศให้เกิดการรวมกลุ่มกันด้วย อีกทั้งความตกลงฯ ดังกล่าวยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีบทบาทและยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในเวทีโลก ทั้งประเทศร่วมภูมิภาคเอเชีย/เอเชียตะวันออก คือญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมไปถึงบทบาทของมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ เพื่อรักษาอำนาจเชิงสัมพัทธ์ของประเทศตนไว้ในเวทีโลก ผลการศึกษาทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ถึงแนวคิดการค้าเสรีในบริบทเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ การบริหารความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของจีนและอาเซียน การเคลื่อนไหวของประเทศอื่นๆ จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และทิศทางการทำเอฟทีเอของโลกในอนาคต