Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกของแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ 3 ชนิดในตัวอย่างคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกได้แก่ Actinobacillus actinomycetemcomitans, Porphyromonas gingivalis และ Tannerella forsythia และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียดังกล่าวกับสภาวะปริทันต์ของพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำนวน 453 คน ช่วงอายุ 39 ถึง 59 ปี ตัวอย่างคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกเก็บจากฟันทุกซี่ในช่องปาก และนำไปตรวจหาแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส โดยตรวจหายีนในตำแหน่ง 16S rRNA และใช้สถิติการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติคในการวิเคราะห์ระดับความสัมพันธ์ระหว่างแบทีเรียดังกล่าวกับสภาวะปริทันต์ เกณฑ์ในการจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มที่เป็นและไม่เป็นโรคปริทันต์อักเสบคือการตรวจพบร่องลึกปริทันต์ตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรเป็นต้นไปอย่างน้อย 3 ตำแหน่ง ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของ Actinobacillus actinomycetemcomitabns, Porphyromonas gingivalis และ Tannerella forsythia ในประชากรกลุ่มนี้เท่ากับร้อยละ 19.0, 70.9 และ 77.5 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นโรคปริทันต์อักเสบร้อยละ 63.8 เป็นโรคร้อยละ 36.2 โดยพบว่าความชุกของ Actinobacillus actinomycetemcomitans และ Porphyromonas gingivalis ในตัวอย่างคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบมากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติขณะที่ไม่พบความแตกต่างของการตรวจพบ Tannerella forsythia ในกลุ่มที่เป็นและไม่เห็นโรคปริทันต์อักเสบ และเมื่อทำการวิเคราะห์ระดับความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดกับสภาวะปริทันต์ พบว่า การตรวจพบ Actinobacillus actinomycetemcomitans และ Porphyromonas gingivalis จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบในประชากรกลุ่มนี้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าอัตราส่วนความน่าจะเป็น เท่ากับ 2.6 เท่า และ 3.7 เท่า ตามลำดับส่วนการตรวจพบ Tannerella forsythia นั้นไม่สัมพันธ์กับสภาวะปริทันต์ในประชากรกลุ่มนี้ ผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า สามารถตรวจพบแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ทั้ง 3 ชนิดในประชากรไทยกลุ่มนี้ และการตรวจพบ Actinobacillus actinomycetemcomitans และ Porphyromonas gingivalis มีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์อักเสบ ขณะที่การตรวจพบ Tannerella forsythia ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคปริทัศน์อักเสบในประชากรไทยกลุ่มนี้ ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาในระยะยาวเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทการเป็นปัจจัยเสี่ยงของแบคทีเรียเหล่านี้กับโรคปริทันต์อักเสบในกลุ่มประชากรไทยต่อไป